ตอบ

ชื่อ:
อีเมล์:
หัวข้อ:
ไอค่อนข้อความ:

Verification:
ระหว่างความดีกับความไม่ดี เราจะเลือกทำสิ่งใดจึงจะสามารถบรรลุธรรมได้จริง ( เลือกตอบแค่ ความดี กับ ความไม่ดี ครับผม):
กัน-ละ-ยา-นะ-มิด เขียนเป็นภาษาไทยที่ถูกต้องว่าอย่างไรครับ:
คุณเชื่อในศรัทธาของความดีไหมครับ ( เลือกตอบแค่ เชื่อ กับ ไม่เชื่อ ครับผม):
เว็บใต้ร่มธรรมเป็นเว็บเล็กๆในโลกออนไลน์ใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
ท่านจะปฏิบัติตามกฏระเบียบข้อตกลงของเว็บใต้ร่มธรรมทุกประการหรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
โดยปกติชน นิ้วมือของคนเรา มีกี่นิ้ว (ตอบเป็นภาษาไทยครับ):
วัฒนธรรมไทยเมื่อเห็นผู้ใหญ่ท่านจะทำความเคารพ ด้วยการไหว้ท่านก่อนเสมอใช่หรือไม่:
ใต้ร่มธรรม เป็น แค่เว็บไซต์และจินตนาการทางจิต การทำดี สำคัญที่ใจเรา เริ่มความดีที่ใจเราก่อนเสมอ พิมพ์คำว่า "เริ่มความดีที่ใจเราก่อนเสมอ":
เมื่อให้ท่านเลือก ระหว่าง (หนังสือเก่าๆเล่มหนึ่งที่เรารัก) กับ (มิตรแท้ที่รักเรา) คุณจะะเลือก:
บุคคลที่ไปหลายๆเว็บไซต์ โดยที่สวมบทบาทเป็นหลายๆคน โดยที่ไม่รู้ว่า แท้จริงใจเราต้องการอะไร เพื่อน หรือ ชัยชนะ:
ระหว่าง (ผู้ที่เรียนรู้ธรรมะเพื่อเอาชนะผู้อื่น) กับ (ผู้ที่เรียนรู้ธรรมะเพื่อเอาชนะตัวเอง)  ท่านจะเลือกเป็น:
กล่าวคำดังนี้  "ให้อภัยนะ":
กล่าวคำดังนี้  "ขออโหสิกรรม":
ในโลกออนไลน์หรือโลกแห่งจิต ไม่มีใครทำอะไรเราได้ นอกเสียไปจาก (คนพาล) หรือ (ใจของเราเอง):
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ใต้ร่มธรรมเองก็จะเป็นไปตามวัฐจักรนี้ ฉันท์ใดก็ฉันท์นั้น (เป็นจริง) หรือ (ไม่จริง):
รู้สึกระอายใจไหมที่เราทำร้ายคนอื่นด้วยวาจาหรือสำนวนที่ไม่สุภาพ โดยที่คนคนนั้นเค้าเคยเป็นผู้มีพระคุณต่อเรามา (ไม่ละอายใจ)หรือ(ละอายใจ):
สำนวนไทยที่ว่า แต่ละคนต่างมีรสนิยมแตกต่างกัน หรือไม่ตรงกัน  พิมพ์สำนวนต่อไปนี้ครับ (ลางเนื้อชอบลางยา):
ผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ผู้ที่ทำตนให้เล็กที่สุด ผู้ที่เล็กที่สุดก็จะกลายเป็นผู้ที่ใหญ่ที่สุด ผู้ที่มีเกียรติคือผู้ที่ให้เกียรติผู้อื่น ฉะนั้นสมาชิกใต้ร่มธรรมควรให้เกียรติกันและกัน พิมพ์คำว่า (ฉันจะให้เกียรติสมาชิกทุกๆท่านในใต้ร่มธรรมเสมอด้วยวาจาสุภาพอ่อนน้อม):
ไม่มีอะไรสายสำหรับการเริ่มต้น พิมพ์เป็นประโยคภาษาอังกฤษครับ เป็นตัวพิมพ์เล็กทั้งหมดนะครับ เว้นวรรคคำด้วยครับ (It is never too late to mend):
ผู้ที่ไม่เคยรับรู้รสของความขมขื่น จะไม่รู้ว่าความหวานชื่นคืออะไร พิมพ์เป็นประโยคภาษาอังกฤษครับ เป็นตัวพิมพ์เล็กทั้งหมดนะครับ เว้นวรรคคำด้วยครับ (He who has never tasted bitterness does not know what is sweet):

shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง


สรุปหัวข้อ

ข้อความโดย: ฐิตา
« เมื่อ: กันยายน 15, 2010, 06:02:48 am »

 
 
                                         :02:    ลิ้งค์ค่ะ   :13:
                                                  :45:
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กันยายน 15, 2010, 05:34:38 am »

ท่านทะไลลามะกล่าวว่า  การเจริญมรณานุสติอยู่บนบาทฐานสามประการ เหตุผลเก้าประการ  และการตัดสินใจสามประการ

บาทฐานแรก  คือการเพ่งพิจารณาว่าความตายเป็นสิ่งแน่นอน  มีเหตุผลสามประการ
๑.เนื่องจากความตายเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น  ดังนั้นจึงมิอาจหลีกพ้น
๒.เนื่องจากเราไม่ยืดอายุขัยออกไปได้  และมันมีแต่จะลดทอนลง
๓.เนื่องจากถึงแม้เราจะมีชีวิตอยู่  แต่ก็เหลือเวลาเพียงน้อยนิดในการปฏิบัติ

การตัดสินใจขั้นแรก......ฉันต้องปฏิบัติ

บาทฐานที่สอง  คือการเพ่งพิจารณาว่าเวลาแห่งการล่วงลับนั้นไม่แน่นอน  มีเหตุผลสามประการ
๔.เนื่องจากอายุขัยของเราบนโลกนี้ไม่แน่นอน
๕.เนื่องจากสาเหตุแห่งการตายมีมากมาย  ขณะที่สาเหตุของการดำรงอยู่มีเพียงน้อยนิด
๖.เนื่องจากช่วงเวลาแห่งการจากไปไม่แน่นอน  เพราะความเปราะบางของร่างกาย

การตัดสินใจขั้นที่สอง......ฉันต้องลงมือปฏิบัติตั้งแต่ตอนนี้

บาทฐานที่สาม  คือการเพ่งพิจารณาว่าในช่วงขณะสุดท้ายของชีวิต  ไม่มีสิ่งใดจะช่วยได้  นอกจากการปฏิบัติ  มีเหตุผลสามประการ
๗.เนื่องจากชั่วขณะสุดท้ายของชีวิต  เพื่อนก็ไม่อาจช่วยได้
๘.เนื่องจากชั่วขณะสุดท้ายของชีวิต  ทรัพย์ศฤงคารก็ไม่อาจช่วยได้
๙.เนื่องจากชั่วขณะสุดท้ายของชีวิต  ร่างกายของเราเองก็ไม่อาจช่วยได้

การตัดสินใจขั้นสาม......ฉันจะละวางความยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งที่ประเสริฐเลิศล้ำต่าง ๆ ในชีวิตนี้

(จากหนังสือเรื่อง  ชั่วขณะสุดท้ายแห่งชีวิต เขียนโดย  ทะไลลามะ  บรรณาธิการและถอดความเป็นภาษาอังกฤษโดย  เจฟฟรี  ฮ้อปกินส์ แปลเป็นภาษาไทยโดย  ธารา  รินศานต์ บรรณาธิการภาษาไทยโดย  พจนา  จันทรสันติ  พิมพ์โดย  สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง)


 :yoyo108:

http://www.thummada.com/cgi-bin/iB315/ikonboard.pl?act=ST;f=4;t=1854;st=0
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กันยายน 15, 2010, 05:33:27 am »

บทที่ ๑๗
ขอให้เราได้เกิดใหม่ โดยมีชีวิตที่สูงส่ง
สามารถฝึกปฏิบัติตันตระ โดยอาศัยท้องนภา
หรือร่างของนักบวช หรือฆราวาสผู้บำเพ็ญไตรสิกขา
ทั้งขอให้เราได้รู้แจ้งในมรรคทั้งสองขั้นของการบ่มเพาะและการถึงพร้อม
จนบรรลุถึงซึ่งธรรมกาย สัมโภคกาย
และนิรมาณของพระพุทธองค์โดยเร็วด้วยเถิด


เป็นคำอธิษฐานขอให้ได้ใช้ชีวิตที่เกิดใหม่อย่างมีคุณค่า

จุดประสงค์ในการเกิดใหม่ของเรา คือการไปเกิดในร่างและในสภาพที่เกื้อหนุนให้สามารถปฏิบัติธรรมต่อไปได้จนสัมฤทธิผล

เป้าหมายของการตรัสรู้  เป็นไปเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นอย่างเต็มที่

(จากหนังสือเรื่อง ชั่วขณะสุดท้ายแห่งชีวิต เขียนโดย ทะไลลามะ บรรณาธิการและถอดความเป็นภาษาอังกฤษโดย เจฟฟรี ฮ้อปกินส์ แปลเป็นภาษาไทยโดย ธารา รินศานต์ บรรณาธิการภาษาไทยโดย พจนา จันทรสันติ พิมพ์โดย สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง)
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กันยายน 15, 2010, 05:32:56 am »

บทที่ ๑๖

ขอให้โยคสาธนาช่วยแปรเปลี่ยนทั้งสิ่งภายนอก  สิ่งภายใน  และสิ่งเร้นลับ
ในยามที่นิมิตต่าง ๆ คือ  เสียงทั้งสี่แห่งการทวนกลับของธาตุทั้งหลาย
จงช่วยให้เราได้ไปเกิดในภพภูมิอันบริสุทธิ์ด้วยเทอญ


เป็นคำอธิษฐานขอให้ได้ไปเกิดใหม่ในภพภูมิที่บริสุทธิ์  ด้วยอำนาจจากโยคสาธนาชำระสิ่งภายนอก  สิ่งภายใน  และสิ่งที่ซ่อนเร้น

จงเตรียมพร้อมว่า  ในสภาวะรอยต่อแห่งชีวิตอาจมีปรากฏการณ์ประหลาดมากมาย  ทั้งที่น่าอัศจรรย์และน่ากลัวบังเกิดขึ้น  พึงเข้าใจเสียแต่บัดนี้ว่า  สิ่งที่เกิดขึ้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยจินตนาการของเรา

จงอยู่ในความสงบ  สร้างมโนภาพถึงสภาพแวดล้อมว่า  เป็นดั่งเคหาสน์ที่งดงามท่ามกลางภูมิประเทศอันเงียบสงบ  แลเห็นว่าสรรพชีวิตก็มีธาตุแห่งความกรุณาและปัญญาอยู่ในตัว  พิจารณาสติของตนเสมือนโพธิจิตที่รู้แจ้งในสุญญตา

สิ่งนี้จะช่วยให้เราได้ไปเกิดใหม่  ในที่ที่ยังคงสามารถปฏิบัติเพื่อความรู้แจ้งอันลึกซึ้งต่อไปได้

(จากหนังสือเรื่อง  ชั่วขณะสุดท้ายแห่งชีวิต เขียนโดย  ทะไลลามะ  บรรณาธิการและถอดความเป็นภาษาอังกฤษโดย  เจฟฟรี  ฮ้อปกินส์ แปลเป็นภาษาไทยโดย  ธารา  รินศานต์ บรรณาธิการภาษาไทยโดย  พจนา  จันทรสันติ  พิมพ์โดย  สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง)
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กันยายน 15, 2010, 05:32:28 am »

บทที่ ๑๕

ถ้าสภาวะรอยต่อแห่งชีวิตปรากฏขึ้นเนื่องจากกรรม
ขอให้การเพ่งพิจารณาอย่างเท่าทัน
จนตระหนักรู้ถึงความว่างเปล่าของสรรพสิ่ง
ความทุกข์จากการเกิด การตาย
และการอยู่ในสภาวะรอยต่อแห่งชีวิต
จงช่วยชำระปรากฏการณ์อันเป็นมายา


เป็นคำอธิษฐานให้ปรากฏการณ์ที่ไม่ดีที่บังเกิดขึ้นในช่วงระหว่างรอยต่อแห่งชีวิตสามัญ กลับกลายเป็นสิ่งที่ช่วยชำระความบริสุทธิ์

เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องจดจำนิมิต ระหว่างที่เราอยู่ในช่วงรอยต่อแห่งชีวิต

จงมองดูประสบการณ์และปรากฎการณ์ทั้งที่น่ารื่นรมย์ ไม่น่ารื่นรมย์ เป็นเสมือนเครื่องสะท้อนกรรมดีกรรมชั่วของตนเอง

จงจินตนการให้ตัวเองอยู่ในกายทิพย์แทนสิ่งที่ปรากฏแก่เรา น้อมนึกว่าสรรพชีวิตทั้งหลายที่อุบัติขึ้นนั้นเป็นภาพสะท้อนของความกรุณาและปัญญา ปรากฏการณ์ของสิ่งแวดล้อมทั้งมวลเป็นที่พักพิงอันน่าอัศจรรย์

(จากหนังสือเรื่อง ชั่วขณะสุดท้ายแห่งชีวิต เขียนโดย ทะไลลามะ บรรณาธิการและถอดความเป็นภาษาอังกฤษโดย เจฟฟรี ฮ้อปกินส์ แปลเป็นภาษาไทยโดย ธารา รินศานต์ บรรณาธิการภาษาไทยโดย พจนา จันทรสันติ พิมพ์โดย สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง)
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กันยายน 15, 2010, 05:32:00 am »

บทที่ ๑๔

แทนที่จะเข้าสู่สภาวะรอยต่อแห่งชีวิต
ขอให้เราสามารถน้อมนึกถึงภาพมายา เพื่อว่าทันทีที่ละจากแสงกระจ่าง
เราจะได้ปรากฏอยู่ในรูปของสัมโภคกาย
ที่สว่างไสวไปด้วยรัศมีแห่งองค์คุณและความงามของพุทธะ
อันเกิดแต่ลมและจิตแห่งแสงกระจ่างของความตาย


เป็นคำอธิษฐานขอให้เข้าถึงกายทิพย์ แทนที่จะเข้าสู่ช่วงรอยต่อแห่งชีวิต

ผู้ปฏิบัติขั้นสูงสามารถใช้ประโยชน์จากแสงกระจ่างแห่งความตายทั่ว ๆ ไป และลมที่มันอิงอาศัย เป็นเหตุแห่งการดำรงอยู่ของจิตและกายอันบริสุทธิ์ได้

การจะฟื้นจากจิตแห่งแสงกระจ่างในรูปของกายทิพย์ อันเกิดจากลม จำเป็นต้องฝึกสร้างมโนภาพให้ตัวเองมีจิตและกายที่เปี่ยมไปด้วยความกรุณาก่อน แล้วสิ่งที่จินตนาการก็จะนำพาไปสู่สภาพที่เป็นจริง ๆ

การเปลี่ยนแปลงในขั้นสุดท้าย จะต้องไม่ย้อนกลับจากจิตเดิมแท้อันประภัสสร ไปสู่จิตระดับหยาบ ซึ่งสิ่งนี้จะนำไปสู่อมตภาพ

(จากหนังสือเรื่อง ชั่วขณะสุดท้ายแห่งชีวิต เขียนโดย ทะไลลามะ บรรณาธิการและถอดความเป็นภาษาอังกฤษโดย เจฟฟรี ฮ้อปกินส์ แปลเป็นภาษาไทยโดย ธารา รินศานต์ บรรณาธิการภาษาไทยโดย พจนา จันทรสันติ พิมพ์โดย สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง)
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กันยายน 15, 2010, 05:31:31 am »

บทที่ ๑๓

ขอให้เรามีสมาธิตั้งมั่นอย่างแรงกล้า
อยู่ในปัญญาญาณแห่งปิติสุขเดิมแท้ที่หลอมรวมเข้ากับสุญญตา
ระหว่างความว่างทั้งสี่ที่เกิดขึ้น หลังจากองค์ประกอบสีขาว
ซึ่งมีลักษณะคล้ายจันทราหลอมละลาย
ด้วยอัคคีแห่งอิตถีเพศอันทรงอานุภาพดุจดั่งอสนีบาต


เป็นคำอธิษฐานขอให้สามารถตั้งมั่นอยู่ในความสงบจากการเพ่งพิจารณา ภายใต้ปัญญาญาณแห่งปิติสุขอันสูงส่งกับสุญญตา ซึ่งเป็นการหลอมรวมของปิติสุขเดิมแท้กับความว่าง ในระหว่างที่ความว่างทั้งสี่บังเกิดขึ้น

ผู้ปฏิบัติขั้นสูงสุดสามารถเปลี่ยนแสงกระจ่างแม่ที่ปรากฏในขณะล่วงลับ เนื่องด้วยอำนาจกรรม ให้เป็นจิตที่ตื่นรู้ได้

สำหรับผู้ปฏิบัติในระดับที่ต่ำกว่า ซึ่งฝึกเทวโยคะตามอนุตตรโยคตันตระในชีวิตประจำวัน จะจินตนาการถึงนิมิตแห่งความตายภายใต้ขอบเขตของการกำหนดรู้ทั้งสาม คือการแยกแยะนิมิตที่กำลังปรากฏ ที่อุบัติขึ้นก่อนหน้า และที่จะเกิดตามมา จงฝึกสร้างมโนภาพถึงนิมิตทั้งแปด พร้อมกับใคร่ครวญในสุญญตา โดยนิมิตแต่ละขั้นจะแบ่งเป็นสามส่วน ยกเว้นขั้นแรกกับขั้นสุดท้ายซึ่งมีแค่สองส่วน

๑. ภาพลวงตากำลังปรากฏ หมอกควันใกล้จะอุบัติขึ้น
๒. หมอกควันกำลังปรากฏ ภาพลวงตาเพิ่งดับไป หิ่งห้อยใกล้จะอุบัติขึ้น
๓. หิ่งห้อยกำลังปรากฏ หมอกควันเพิ่งดับไป เปลวไฟใกล้จะอุบัติขึ้น
๔. เปลวไฟกำลังปรากฏ หิ่งห้อยเพิ่งดับไป ปรากฏการณ์สีขาวสว่างใกล้จะอุบัติขึ้น
๕. ปรากฏการณ์สีขาวสว่างกำลังปรากฏ เปลวไฟเพิ่งดับไป ปรากฏการณ์เพิ่มพูนสีส้มแดงเจิดจ้าใกล้จะอุบัติขึ้น
๖. ปรากฏการณ์เพิ่มพูนสีส้มแดงเจิดจ้ากำลังปรากฏ ปรากฏการณ์สีขาวสว่างเพิ่งดับไป ปรากฏการณ์เพิ่มพูนสีดำทะมึนใกล้จะอุบัติขึ้น
๗. ปรากฏการณ์สีดำทะมึนกำลังปรากฏ ปรากฏการณ์สีส้มแดงเจิดจ้าเพิ่งดับไป จิตแห่งแสงกระจ่างใกล้จะอุบัติขึ้น
๘. จิตแห่งแสงกระจ่างกำลังปรากฏ ปรากฏการณ์สีดำทะมึนเพิ่งดับไป

การฝึกเทวโยคะแบบเฉพาะในอนุตตรโยคตันตระ ผู้ปฏิบัติจะประสานความเข้าใจในเรื่องสุญญตาที่ไม่ว่าจะอยู่ในระดับใดก็ตาม เข้ากับการค่อย ๆ สร้างมโนภาพถึงนิมิตแห่งความตายทั้งแปด จากนั้นจะใช้จิตแห่งแสงกระจ่างเพื่อเข้าถึงสุญญตา หรือทำเสมือนเข้าสู่สภาวะดังกล่าว เป็นบาทฐานให้รูปกายอันกรุณาขององค์เทพปรากฏในจินตภาพ

ผู้ปฏิบัติขั้นสูงที่ตั้งมั่นอยู่ในปัญญาและความกรุณา จะใช้การเสพสังวาสเพื่อช่วยให้จิตใจเกิดสมาธิแน่วแน่ และเผยธรรมชาติเดิมแท้แห่งแสงกระจ่างออกมา อันจะเกื้อหนุนให้เขาเข้าถึงความว่างเปล่าของสรรพสิ่ง ในวิถีทางที่ทรงพลังอย่างประหลาดล้ำ

(จากหนังสือเรื่อง ชั่วขณะสุดท้ายแห่งชีวิต เขียนโดย ทะไลลามะ บรรณาธิการและถอดความเป็นภาษาอังกฤษโดย เจฟฟรี ฮ้อปกินส์ แปลเป็นภาษาไทยโดย ธารา รินศานต์ บรรณาธิการภาษาไทยโดย พจนา จันทรสันติ พิมพ์โดย สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง)
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กันยายน 15, 2010, 05:30:57 am »

บทที่ ๑๒

ขอให้แสงกระจ่างแม่กับลูกได้มาบรรจบพบกัน
เมื่อสภาวะใกล้บรรลุได้หลอมละลายเข้าสู่ความว่างเปล่าอย่างที่สุด
เมื่อความคิดฟุ้งซ่านทั้งหลายดับลง
และปรากฏประสบการณ์คล้ายท้องฟ้าในยามฤดูใบไม้ร่วงที่ไร้มลทินบดบัง


เป็นคำอธิษฐานให้แสงกระจ่างแม่กับลูกได้พบกัน เมื่อความว่างในขั้นที่ ๔ อุบัติขึ้น

ขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการตาย เกิดขึ้นเมื่อจิตเดิมแท้แห่งแสงกระจ่างปรากฏขึ้น มันเป็นจิตที่คงอยู่มาแต่ปางบรรพ์ และจะคงอยู่ตลอดไปชั่วนิรันดร์

เมื่อบรรลุสู่พุทธภูมิ เราจะสามารถคงอยู่ในจิตแห่งแสงกระจ่าง โดยไม่ประสบกับกระบวนการที่ย้อนกลับไปสู่จิตระดับหยาบ และจะไม่มีการสั่งสมกรรมอีกต่อไป

สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรม ปรากฏการณ์อย่างหยาบจะหายไปในตอนตาย แต่สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมขั้นสูงจะพยายามใช้จิตนี้เพื่อเข้าถึงสัจธรรม ซึ่งก็คือความว่างเปล่าของสรรพสิ่ง โดยอาศัยพลังแห่งความคุ้นเคยจากการเพ่งพิจารณาสุญญตา

จิตแห่งแสงกระจ่างทั่ว ๆ ไปที่ปรากฏในขั้นตอนสุดท้ายของการตายเรียกว่า แสงกระจ่างแม่ ส่วนแสงกระจ่างที่เกิดจากพลังแห่งการบำเพ็ญเพียรเรียกว่า แสงกระจ่างลูก

เมื่อแสงกระจ่างแม่ในขณะล่วงลับ ซึ่งปรากฏขึ้นเนื่องจากกรรม เปลี่ยนไปเป็นจิตที่หยั่งรู้ถึงความว่าง หรือแสงกระจ่างลูก เราจะเรียกการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า การพบกันของแสงกระจ่างแม่กับลูก

(จากหนังสือเรื่อง ชั่วขณะสุดท้ายแห่งชีวิต เขียนโดย ทะไลลามะ บรรณาธิการและถอดความเป็นภาษาอังกฤษโดย เจฟฟรี ฮ้อปกินส์ แปลเป็นภาษาไทยโดย ธารา รินศานต์ บรรณาธิการภาษาไทยโดย พจนา จันทรสันติ พิมพ์โดย สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง)
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กันยายน 15, 2010, 05:30:29 am »

บทที่ ๑๑

ขอให้เราได้รู้จักกับธรรมชาติของตนเอง
จากโยคสาธนา อันทำให้ตระหนักรู้ว่า
การเวียนว่ายและนิพพานนั้นว่างเปล่า
เมื่อรูปปรากฏ การเพิ่มพูน และสภาวะที่เข้าใกล้การตรัสรู้
มลายไป – จากอย่างแรกสู่อย่างหลัง –
และปรากฏสิ่งที่คล้ายแสงจันทร์ แสงตะวัน
และความมืดมิดแผ่คลุมไปทั่ว


เป็นคำอธิษฐานขอให้สามารถจดจำประสบการณ์ของจิตเดิมแท้ ในขณะที่ความว่างสามขั้นแรกปรากฏขึ้น

อนุตตรโยคตันตระแบ่งวิญญาณหรือจิตออกเป็น ๓ ระดับ หยาบ ละเอียด และประณีตที่สุด

ระดับหยาบ ครอบคลุมถึงวิญญาณหรือการรับรู้ประสาทสัมผัสทั้งห้า คือ ตารับรู้สีและรูปทรง หูรับรู้เสียง จมูกรับรู้กลิ่น ลิ้นรับรู้รส และกายรับรู้สัมผัส

ระดับละเอียด คือวิญญาณที่รับรู้ความนึกคิด แบ่งออกเป็น ๓ กลุ่มตามลักษณะของลม ๓ ประเภท คือ แรง ปานกลาง และเบา ที่วิญญาณทั้งสามระดับขับเคลื่อนอยู่ เป็นภาพสะท้อนของจิตที่ลึกขึ้น มีการรับรู้ในเชิงทวิลักษณ์น้อยลงเรื่อย ๆ เป็นสิ่งที่ฝังแน่นอยู่ในจิตละเอียด อันจะเผยตัวออกมาในช่วงที่จิตระดับหยาบดับไป

กลุ่มแรก เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนตัวอย่างแรงของลมที่เข้ายึดเกาะอารมณ์ อันครอบคลุมถึงสภาพความนึกคิด ๓๓ ประเภท อันได้แก่ ความกลัว ความยึดมั่นถือมั่น ความหิว ความกระหาย ความกรุณา ความโลภ และความริษยา

กลุ่มที่สอง เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนตัวในระดับปานกลางของลมที่เข้ายึดเกาะอารมณ์ ซึ่งก็คือความคิด ๔๐ ประเภท อาทิเช่น ความเบิกบานยินดี ความรู้สึกประหลาดใจ ความเอื้อเฟื้อ ความรู้สึกอยากที่จูบ ความกล้าหาญ ความก้าวร้าว และความคดโกง

กลุ่มที่สาม เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนตัวอ่อน ๆ ของลมที่เข้ายึดเกาะอารมณ์ คือ ความคิดเจ็ดประเภท มี การหลงลืม ความเข้าใจผิด ความรู้สึกเกร็ง หดหู่ เกียจคร้าน สงสัย และความรู้สึกเลือกที่รักมักที่ชัง

ระดับประณีต เป็นระดับสุดท้าย แบ่งออกได้สี่ขั้นตอน คือจิตละเอียดสามระดับ และสิ้นสุดลงด้วยจิตประณีตที่สุดอีกหนึ่งขั้นตอน

ระดับประณีตขั้นที่หนึ่ง เมื่อลมที่สภาพความคิดทั้ง ๘๐ ประเภทนี้อิงอาศัยอยู่ ดับสลายลง ความคิดก็ย่อมจะดับไปด้วย ทำให้จิตหรือวิญญาณในระดับละเอียดอันดับแรกเผยตัวออกมา เริ่มมีปรากฏการณ์ทางจิตที่เป็นสีขาวกระจ่าง เป็นความโล่งแจ้งเจิดจ้าที่เรื่อเรืองไปด้วยแสงสีขาว ไม่มีสิ่งอื่นใดนอกจากนี้ปรากฏในจิต สภาวะนี้เรียกว่า “ปรากฎการณ์” มีลักษณะคล้ายแสงจันทร์ แต่ไม่ได้สาดส่องมาจากภายนอก หรืออาจเรียกว่า “ความว่าง” เนื่องจากมันอยู่เหนือความนึกคิดทั้ง ๘๐ แล้ว

ระดับประณีตขั้นที่สอง เมื่อจิตแห่งปรากฏการณ์แสงสีขาวและลมสลายตัว เข้าสู่จิตแห่งปรากฏการณ์เพิ่มพูน ก็จะบังเกิดปรากฏการณ์แสงสีส้มแดง ความโล่งแจ้งที่เจิดจ้ายิ่งกว่า เรียกสภาวะนี้ว่า “ปรากฏการณ์เพิ่มพูน” เหมือนกับแสงตะวันอันแรงกล้า อาจเรียกได้ว่า “ความว่างอย่างยิ่ง”

ระดับประณีตขั้นที่สาม เมื่อจิตแห่งปรากฏการณ์เพิ่มพูนสีส้มแดงและลมของมันมลาย เข้าสู่จิตที่ใกล้บรรลุ ก็จะเกิดปรากฏการณ์สีดำทะมึน ช่วงแรกของจิตใกล้บรรลุที่ดำทะมึนนี้ เราจะยังคงมีสติ แต่ช่วงหลังเราจะไม่รู้สึกตัว อยู่ท่ามกลางความมืดมิด คล้าย ๆ สะลึมสะลือ ขั้นนี้เรียกว่า “ใกล้บรรลุ” หรือ “ความว่างอย่างที่สุด”

ระดับประณีตขั้นสุดท้าย ลมจะอ่อนกำลังลง เข้าสู่สภาวะของลมที่ละเอียดที่สุด ถึงตอนนี้สติจะฟื้นคืน ปรากฏเป็นจิตประภัสสร หรือจิตแห่งแสงกระจ่าง อันเป็นจิตที่ละเอียดที่สุด ปราศจากความคิด ไม่มีลักษณะของทวิลักษณ์ การปรุงแต่งทางความคิดจะหยุดลง และสภาวะอันแปดเปื้อนทั้งสาม คือปรากฏการณ์สีขาว สีแดงและดำ หรือพระจันทร์ พระอาทิตย์ และความมืดมิด ซึ่งบดบังสีธรรมชาติของท้องฟ้าไว้ก็จะดับสลายไปด้วย เกิดความโล่งแจ้งอย่างมาก เป็นจิตในระดับที่เรียกว่า “จิตเดิมแท้อันประภัสสร” และ “ว่างเปล่าอย่างสิ้นเชิง”

คนส่วนใหญ่จะสิ้นใจในตอนที่จิตระดับละเอียดที่สุดเผยตัว ปกติจิตที่ละเอียดที่สุดนี้จะยังคงอยู่ในร่างกายอีกสามวัน ถ้าร่างนั้นไม่ได้รับผลกระทบจากโรค สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมที่เชี่ยวชาญ ช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นโอกาสที่มีค่าของการปฏิบัติ  ผู้ที่เข้าถึงจิตประภัสสรจะสามารถคงอยู่ในสภาวะนี้ได้นานกว่า ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนก่อนหน้านี้ บางคนอาจถึงขั้นสามารถเข้าถึงสัจธรรมแห่งความว่างของปรากฎการณ์ทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งรวมถึงวัฏสงสาร และนิพพานด้วย

คำอธิบายของท่านทะไลลามะในบทนี้ ละเอียดกว้างขวางมาก ท่านยังได้อธิบายถึงโครงสร้างของช่องโคจรต่าง ๆ ในร่างกาย โครงสร้างของลมหรือปราณในร่างกาย  หยดที่เป็นของเหลวสำคัญภายในร่างกาย  อันเป็นปรากฏการณ์ทางกายที่จะเกิดควบคู่กันไปกับปรากฏการณ์ทางจิต และยังได้อธิบายเกี่ยวกับสุญญตาด้วย ซึ่งจะยืดยาวมากถ้านำมาโพสท์ในที่นี้ แค่นี้ก็ยาวมากแล้ว จะเบื่อกันเสียก่อน หากสนใจจริง ๆ แนะนำให้หาหนังสือมาอ่านจะง่ายกว่า ที่คัดมานี้เฉพาะส่วนที่เป็นปรากฏการณ์ทางจิตเท่านั้น

(จากหนังสือเรื่อง ชั่วขณะสุดท้ายแห่งชีวิต เขียนโดย ทะไลลามะ บรรณาธิการและถอดความเป็นภาษาอังกฤษโดย เจฟฟรี ฮ้อปกินส์ แปลเป็นภาษาไทยโดย ธารา รินศานต์ บรรณาธิการภาษาไทยโดย พจนา จันทรสันติ พิมพ์โดย สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง)
ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: กันยายน 15, 2010, 05:30:03 am »

บทที่ ๑๐

ขอให้เรามีสติและความสามารถในการใคร่ครวญอย่างแจ่มชัด
เมื่อธาตุลมเริ่มดับสลายกลายเป็นวิญญาณธาตุ
และกระแสของลมหายใจภายนอกสิ้นสุดลง
ปรากฏการณ์อันเป็นทวิลักษณ์อย่างหยาบ ๆ มลายหายไป
จนกระทั่งเกิดภาพนิมิตคล้ายกับตะเกียงเนยที่ส่องแสง


เป็นคำอธิษฐานให้มีสติอันแรงกล้า สามารถระลึกถึงความพากเพียรอันเป็นบุญกุศลในอดีต ขณะที่ปรากฏการณ์อันเป็นทวิลักษณ์อย่างหยาบ ๆ ดับสลาย

จิตและกายมีธรรมชาติพื้นฐานที่ต่างกัน มันจึงมีเหตุแห่งการดำรงอยู่ที่ผิดแผกกัน

กายวัตถุมีวัตถุธาตุเป็นเหตุแห่งการดำรงอยู่ แต่เหตุแห่งการดำรงอยู่ของจิตคือชั่วขณะที่แล้วของจิตนั้นเอง ฉะนั้นไม่ว่าชั่วขณะใดของจิต ก็ต้องอาศัยชั่วขณะที่เกิดขึ้นก่อนหน้าเป็นเหตุแห่งการดำรงอยู่ กล่าวคือจะต้องเป็นกระแสจิตที่ต่อเนื่อง ปราศจากจุดเริ่มต้น นี่จึงเป็นเหตุให้เกิดการเวียนว่ายไม่รู้จักจบสิ้น

รูปกายจะขึ้นอยู่กับปัจจัยปรุงแต่งที่เพิ่มพูนขึ้นหรือลดลง แต่มันก็ยังมีชีวิต และเมื่อพลังชีวิตดับลง มันจะเน่าเปื่อยอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นซากศพ พลังชีวิตที่รักษารูปกายไม่ให้เน่าเปื่อยก็คือจิตนั่นเอง ความจริงที่ว่าเนื้อหนังประกอบเข้ากับจิตทำให้รูปกายไม่เน่าสลาย กระแสสืบต่อของจิตนี้คือสิ่งที่จะนำเราไปสู่ชาติหน้า

แม้กายและจิตจะมีเหตุแห่งการดำรงอยู่ที่ต่างกัน แต่ก็มีความเกี่ยวพันกันหลายด้าน รูปกายทำหน้าที่เป็นตัวค้ำจุนหรือฐานของจิต จิตก็ก่อให้เกิดรูป เนื่องจากกรรมหรือการกระทำของเราซึ่งได้รับแรงกระตุ้นจากจิตนั้นเป็นตัวกำหนดสภาพแวดล้อม อิทธิพลร่วมจากกรรมของสรรพสัตว์ต่าง ๆ จึงเป็นตัวลิขิตระบบโลกที่เราอาศัยอยู่

การนำหลักการเรื่องเหตุแห่งการดำรงอยู่และปัจจัยประกอบที่ก่อให้เกิดรูปมาใช้ จะทำให้เราสามารถแลเห็นว่าธาตุของพ่อและแม่ คืออสุจิกับไข่ เป็นเหตุแห่งการดำรงอยู่ที่ทำให้เกิดรูปกายของเด็ก และเป็นปัจจัยประกอบของจิต จิตของเด็กในชั่วขณะสุดท้ายเมื่อชาติก่อน เป็นเหตุแห่งการดำรงอยู่ของจิตในชั่วขณะของการปฏิสนธิ และเป็นปัจจัยประกอบของรูปกาย

ตามหลักอนุตตรโยคตันตระ จิตยังต้องอาศัยปราณเป็นกาย แต่เป็นกายที่มิได้ประกอบด้วยอนุภาค เป็นกายทิพย์ที่จิตหรือวิญญาณใช้ในการขับเคลื่อนดังเช่นคนขี่ม้า จิตหรือวิญญาณก็ขี่ปราณ เมื่อจิตหรือวิญญาณแยกจากรูปกาย ก็มีปราณเป็นพาหนะนำเราข้ามภพ

เมื่อปราณหรือพลังที่จิตในระดับต่าง ๆ ขับเคลื่อนอยู่เริ่มอ่อนกำลังลง และสลายตัวเป็นวิญญาณมากขึ้น จิตในระดับที่ละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น ก็จะเผยตัวออกมา เป็นธรรมชาติอันประภัสสรและล่วงรู้ของจิตเอง 

หลังจากเกิดนิมิตภายในสามอย่าง คือภาพลวงตา หมอกควัน และหิ่งห้อยแล้ว จะปรากฏนิมิตอย่างที่สี่ ซึ่งมีลักษณะคล้ายเปลวไฟจากตะเกียงเนยหรือเทียนไข ตอนแรกจะวูบไหวก่อน จากนั้นจึงเป็นเปลวที่สม่ำเสมอ

พอถึงขั้นนี้ แม้ลมหายใจภายนอกที่ผ่านทางช่องจมูกจะหยุดแล้ว และไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก แต่คนคนนั้นก็ยังไม่ตาย เป็นการดีที่จะไม่ไปรบกวนร่างของคนผู้นั้น จนกว่าการตายจะเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์

การมีสติและความสามารถในการใคร่ครวญ ซึ่งจะช่วยให้เราจดจำได้ว่ากระบวนการภายในกำลังเกิดขึ้นในขั้นตอนใดนั้น สามารถก่อให้เกิดการรู้แจ้งอันทรงพลัง และส่งผลให้ได้ไปเกิดในสุคติภูมิ

(จากหนังสือเรื่อง ชั่วขณะสุดท้ายแห่งชีวิต เขียนโดย ทะไลลามะ บรรณาธิการและถอดความเป็นภาษาอังกฤษโดย เจฟฟรี ฮ้อปกินส์ แปลเป็นภาษาไทยโดย ธารา รินศานต์ บรรณาธิการภาษาไทยโดย พจนา จันทรสันติ พิมพ์โดย สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง)