แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - เลดี้เบื๊อก

หน้า: [1] 2 3 4 5 6 7 8 9
1


รู้เห็นอัตตาก่อนอนัตตา
โดย พระอาจารย์ทูล ขิปปปญโญ
วัดป่าบ้านค้อ ต. เขือน้ำ อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี
โทร (๐๘๒) ๒๔๕–๔๘๘

การน้อมใจพิจารณาในอนัตตา เริ่มต้นก็ให้รู้ว่า อัตตา ตัวตนเป็นอย่างไร มีส่วนประกอบด้วยธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ อย่างไร อาการ ๓๒ ที่ทุกคนเคยอ่านและเคยสวดมนต์กันอยู่แล้ว ก็ให้ใช้ปัญญาพิจารณาแยกแยะอาการแต่ละอย่างออกมา ให้รู้เห็นในลักษณะอาการนั้นให้ถูกต้อง ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ เป็นลักษณะอย่างไร ก็ทำความเข้าใจในสมมติว่าเป็นลักษณะนี้จริง ๆ เหมือนกับรถ ถ้ารื้อออกมาทั้งหมดแล้ว คำว่ารถก็จะหมดไปทันที ทุกอย่างจะเป็นเพียงชิ้นส่วนและอะไหล่ของรถเท่านั้น นี้ฉันใด

อัตตาที่เข้าใจว่าเป็นตัวเราทั้งหมดนี้ ถ้าพิจารณาด้วยปัญญาอยู่บ่อย ๆ ใจก็ค่อยรู้เห็นว่าไม่มีอัตตาตัวตนแต่อย่างใด จึงใช้ปัญญาฝึกใจให้เกิดความรู้เห็นตามความเป็นจริงอยู่เสมอและฝึกใจอยู่เสมอว่า อีกไม่นานัก ใจกับร่างกายนี้ ก็จะแยกทางกันไป ร่างกายจะเน่าทับถมอยู่ในพื้นดินนี้ ใจก็จะไปตามบุญกรรมที่ได้ทำเอาไว้แล้ว ทั้งเราทั้งเขา ก็จะเป็นอย่างนี้เหมือนกันทุกคน แม้แต่สัตว์ดิรัจฉานทุกประเภท ก็จะเป็นในลักษณะนี้เช่นกัน

สมาธิความสงบ ผู้ปฏิบัติภาวนาในยุคนี้สมัยนี้ จะมีความเข้าใจในวิธีทำสมาธิความสงบได้เป็นอย่างดี เพราะมีผู้สอนวิธีทำสมาธิความสงบกันอยู่มาก หากมีการภาวนาปฏิบัติก็จะประกาศว่าให้ภาวนากัน ทุกคนก็จะเข้าใจว่าการภาวนา คือทำใจให้มีความสงบ จะนึกถึงคำบริกรรม ทำให้จิตเกิดความสงบทันที วิธีทำสมาธิความสงบนั้นก็เริ่มต้นเหมือนกันกับวิธีทำสมาธิความตั้งใจมั่น เหมือนกันกับที่ได้อธิบายมาแล้ว ถ้าผู้มีนิสัยเจโตวิมุติ ผู้นั้นก็จะทำให้จิตมีความสงบได้เร็วขึ้น จิตก็จะดิ่งลงอัปปนาสมาธิเข้าสู่รูปฌาน อรูปฌาน ได้เป็นอย่างดี

ในช่วงที่จิตมีความสงบนี้เอง บางคนก็จะเกิดเป็นนิมิตในลักษณะต่าง ๆ กันไป ตามนิสัยของท่านผู้นั้น บางท่านก็จะไม่เกิดนิมิตแต่อย่างใดมีแต่ใจแน่วแน่อยู่ในความสงบนิ่งเฉยเพ่งอยู่ในฌานเท่านั้น

ในขณะจิตอยู่ในความสงบนั้น อาการของจิตก็จะอยู่ในอุเปกขาเฉยอยู่ บางคนก็สงบได้ไม่นาน บางคนก็สงบอยู่ได้นาน

ในขณะจิตมีความสงบอยู่นั้น เรื่องราคะ ตัณหา กิเลสน้อยใหญ่จะไม่ปรากฏที่ใจแต่อย่างใด เมื่อจิตถอนออกจากความสงบแล้ว อำนาจสมาธิและฌานยังไม่เสื่อม ใจก็จะมีความสุข เบากาย เบาใจ อยู่ตลอดเวลา

ในขณะสมาธิฌานเสื่อมลงไป กิเลสตัณหาน้อยใหญ่ก็จะเกิดขึ้นที่ใจตามเดิม เหมือนกับศิลาทับหญ้า เมื่อเอาศิลาออกจากที่นั้นแล้ว หญ้าก็จะเกิดในที่นั้นตามเดิม นี้ฉันใด

ใจที่มีความสงบอยู่ ก็เพียงข่มกิเลสตัณหาไว้ชั่วคราวเท่านั้น เมื่อสมาธิเสื่อมจากใจเมื่อไร ใจก็จะเกิดความรัก ความชอบ ในกามคุณ เกิดราคะตัณหา เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ต่อไป


สมาธิเพียงข่มกิเลสตัณหา

เมื่อใจยังมีความหลงไปตามกระแสโลกอยู่ มีความใฝ่ฝันในกามคุณอยู่ กำลังใจที่เกิดจากสมาธิความสงบก็จะเป็นกำลังหนุนกิเลสตัณหาราคะให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น เพราะกำลังใจที่เกิดจากสมาธิความสงบเป็นเพียงกำลังหนุนเท่านั้น ถ้าผู้ฝึกสติปัญญามาดี กำลังของสมาธิก็จะเป็นตัวหนุนสติปัญญาได้เป็นอย่างดี พิจารณาความจริงในสิ่งใดก็จะเกิดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน ถ้าไม่มีสติปัญญาให้หนุน กำลังใจที่เกิดจากสมาธิก็จะไปหนุนกิเลสตัณหาน้อยใหญ่ให้ใจฟุ้งไปตามอารมณ์ที่รักที่ชอบใจต่อไป

คนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจว่า การทำสมาธิความสงบจะทำให้เกิดปัญญา ทำให้ใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใส ทำให้ใจละอาสวกิเลสตัณหา ความเห็นในลักษณะนี้จึงเป็นความเห็นเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิดโดยไม่รู้ตัว ถึงจะเข้าใจว่าเป็นความเห็นถูกอยู่ก็ตาม ก็จะเป็นความเห็นผิดต่อไป ดังคำว่าเห็นผิดเป็นถูก เห็นชั่วว่าดี เห็นสิ่งไม่เที่ยงว่าเป็นของเที่ยง เห็นสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข เห็นสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอัตตา จึงตรงกันข้ามกับความเป็นจริงอยู่ตลอดเวลา

ในความเห็นที่เกิดเป็นมิจฉาทิฏฐิแต่มาเข้าใจว่าเรามีความเห็นเป็นสัมมาทิฏฐิ อย่างนี้ใช้ไม่ได้เลย ไม่เป็นไปตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าแต่อย่างใด ฉะนั้น การภาวนาปฏิบัติจึงเริ่มต้นจากความเห็น

ตามปกติใจจะมีความเห็นผิดเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เราจึงแก้ความเห็นผิดที่เป็นมิจฉาทิฏฐิให้หมดไปจากใจเสียก่อน แล้วจึงมาเริ่มต้นใหม่ให้ใจมีความเห็นเป็น สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เห็นจริงตามความเป็นจริงที่ถูกต้อง


ในเมื่อใจเรายังไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เราก็อย่าเพิ่งภาวนาปฏิบัติแต่อย่างใด เหมือนการออกรถลงสู่ถนน ถ้าเราไม่แน่ใจในเส้นทางที่เราจะต้องไปก็อย่าแล่นรถออกไป ให้ศึกษาเส้นทางให้ดี ดูแผนที่ให้เข้าใจ จนเกิดความมั่นใจว่าถูกต้องแล้ว จึงออกรถไป จะไม่ทำให้เสียเวลา จะถึงจุดหมายปลายทางที่เราต้องการ นี้ฉันใด

การภาวนาปฏิบัติก็ฉันนั้น เราจึงมาแก้ความเห็นผิดของใจให้เกิดความถูก จากนั้นไป ก็จะเกิดความเห็นถูก การภาวนาปฏิบัติก็จะเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการเริ่มต้นถูกในทางกลาง และถูกในที่สุดคือมรรคผลนิพพาน

ขณะนี้ มีผู้ตั้งใจภาวนาปฏิบัติกันอยู่มาก กำลังแสวงหาครูอาจารย์ให้เป็นผู้ชี้แนะแนวทางการปฏิบัตินี้อยู่ เหมือนผู้หลงทางกำลังเดินทางอยู่ หรือไม่แน่ใจในเส้นทางที่เรากำลังเดินอยู่ว่าผิดหรือถูก กำลังต้องการผู้ที่รู้เส้นทางที่ถูกต้องให้ ถ้าผิดก็จะได้แก้ไข ถ้าถูกก็จะได้เดินทางต่อไปด้วยความมั่นใจจะได้รีบเร่งทุ่มเทความพากเพียรลงไปอย่างเต็มกำลัง

ข้อควรระวัง เมื่อเรากำลังหลงทางแต่ได้เพื่อนที่กำลังหลงทางเหมือนกันกับเรา หรือไปถามผู้ที่หลงทางเหมือนกันกับเราก็จะบอกส่งเดชไปเลยว่า ถูกแล้ว ๆ ถ้าเป็นในลักษณะนี้ ก็ตัวใครตัวมันก็แล้วกัน เพราะในยุคนี้ไม่เหมือนครั้งพุทธกาล

แสวงหาหัวหน้าโค

เหมือนกับฝูงโคกำลังแสวงหาหัวหน้าโคให้พาลอยข้ามกระแสแห่งมหาสมุทร ถ้าฝูงโคกลุ่มใดได้ผ่าน และข้ามกระแสมาแล้ว ตรงไหนที่เป็นโขดหิน ตรงไหนที่เป็นวังวน ตรงไหนที่มีจระเข้ ที่ไหนที่มีปลาฉลาม ตรงไหนมีโทษภัยอย่างไร หัวหน้าโคจะรู้เส้นทางในการข้ามกระแสนี้ได้เป็นอย่างดี จึงได้พาฝูงโคทั้งหลาย ข้ามกระแสถึงฝั่งอย่างปลอดภัย

ถ้าฝูงโคได้หัวหน้าตัวที่ไม่เคยข้ามกระแสมาก่อน ก็ไม่ทราบว่า หัวหน้าโค จะพาฝูงโคข้ามกระแสในจุดไหน ในขณะที่พาฝูงโคลอยคอกันอยู่ในท่ามกลางมหาสมุทร อาจเข้าไปในจุดน้ำวังวน จุดจระเข้ จุดปลาฉลามกำลังออกหากิน ทั้งหัวหน้าโคและฝูงโคทั้งหลาย จะเอาตัวรอด ได้หรือไม่ หรือจะมีอะไรเกิดขึ้นกับหัวหน้าโคและฝูงโคเหล่านั้น นี้ฉันใด

ในยุคนี้สมัยนี้ หัวหน้าโค หรือครูอาจารย์ที่เราต้องการจะเลือกได้ด้วยวิธีใด จะดูอย่างไรว่าเป็นของแท้ของปลอม ไม่เหมือนในครั้งพุทธกาล ที่มีพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าทั้งหลายมีอยู่เป็นจำนวนมาก การสอนธรรมปฏิบัติของพระอริยเจ้านั้น จะสอนไปในทิศทางเดียวกัน พุทธบริษัทไม่ได้ถกเถียงกันว่าองค์นั้นสอนผิดองค์นี้สอนถูก องค์นั้นสอนทางตรง องค์นี้สอนทางอ้อม ฟังธรรมของพระอริยเจ้าร้อยพันองค์ก็เหมือนกันทั้งหมด นั้นคือสอนสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เป็นจุดเริ่มต้น เป็นหลักยืนตัว เป็นหลักใหญ่ในการปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

ในยุคนี้สมัยนี้ ถึงจะมีผู้สอนธรรมและการปฏิบัติอยู่ ความถูกต้องชัดเจนจะเป็นอย่างไร ก็ไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าหากการสอนและการปฏิบัติอยู่ในขั้น กามาวจรกุศล ไม่มีปัญหาอะไร ทั้งผู้สอนและผู้ปฏิบัติก็ทำหน้าที่ได้ดีถูกต้องอยู่แล้ว ส่วนธรรมะที่เป็น โยคาวจรกุศล ที่เป็นแนวทางจะข้ามพ้นไปจากวัฏสงสารนั้น ดูจะเกิดความสับสนอยู่มากพอสมควรจะเป็นเพราะผู้สอนตีความหมายในธรรมะหมวดนี้ไม่ชัดเจนหรือไม่ถูกต้อง แล้วนำมาสอนคนอื่นให้เกิดความเข้าผิดไปก็อาจเป็นได้ หรือผู้ฟังไม่เข้าใจในธรรม ตีความหมายผิดไปก็อาจเป็นได้เช่นกัน

ฉะนั้น จึงมีปัญหาถกเถียงกันว่าสายนั้นผิด สายนี้ถูก สายนี้ทางตรง สายนี้ทางอ้อม เกิดขึ้น ทุกสายจะต้องประกาศว่าถูกต้องตรงสู่มรรคผลนิพพานด้วยกัน จึงยากที่จะตัดสินว่าสายไหนผิด สายไหนถูก กันแน่ ถึงจะมีผู้รู้ดีรู้ชอบในแนวทางปฏิบัติอยู่ก็ตาม ก็ยากที่จะทำความเข้าใจให้สายต่าง ๆ กลับมาเข้าใจในทางที่ถูกต้องได้ก็เพราะได้แบ่งกันออกไปเป็นกุล่มเป็นเหล่ากันแล้ว

แนวทางปฏิบัติขั้น โยคาวจรกุศล นี้ เป็นแนวทางปฏิบัติระดับสูง เป็นอุบายการปฏิบัติเพื่อให้พ้นไปจากภพทั้งสาม สำหรับฆราวาสแล้ว จึงยากในการปฏิบัติให้เป็นไปได้

ถ้าผู้ฟังมีความจริงจัง ฟังเหตุผลมีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน โอกาสหน้าจึงมาปรึกษากันใหม่ ถึงข้าพเจ้าจะมีสติปัญญาน้อยก็จะอธิบายให้ฟังอย่างเต็มความสามารถ เว้นเสียที่ไม่รู้ภาษากันเท่านั้น


2
ทิฏฐิจริต ใจเห็นถูก เร็ว ใจเห็นผิด ช้า

ถาม : กระผมขอกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า...
สิ่งมีชีวิตทุกๆ สิ่งในสากลจักรวาลนี้
มีธาตุแห่งพุทธะเหมือนกันหมดในทุกชีวิต
นั่นคือทุกๆ ชีวิตสามารถที่จะเข้าถึงนิพพานได้หมด
แต่แตกต่างกันที่เวลาในการเดินทางว่าจะช้าหรือเร็ว

กระผมขอกราบเรียนถามว่า...
ความเป็นพระพุทธเจ้าต้องใช้เวลาในการบำเพ็ญบารมีไม่เท่ากัน
ขึ้นอยู่กับจริตแต่ละองค์ซึ่งถูกกำหนดโดยความปรารถนาและระยะเวลา
หรือ ถูกกำหนดแล้วตั้งแต่เริ่มกำเนิดของสากลจักรวาลครับ

ตอบ :สัตว์ที่มีชีวิต สามารถจะบรรลุมรรคผลนิพพานในเมื่ออินทรีย์แก่กล้าเป็นภัพบุคคล

ที่เป็นอภัพสัตว์คือจำพวกที่ไม่ควรแก่การบรรลุมรรคผลเพราะเป็นมิจฉาทิฏฐิ
คือ เห็นผิด ปฏิบัติผิด เช่นเห็นกรรมชั่วเป็นดี เห็นผิดจากอริยสัจ
เช่น เห็นทุกข์ว่าเป็นสุข เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ว่าเป็นเหตุให้เกิดสุข
เห็นผิดจากนิโรธ เห็นผิดจากมรรค คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
ปฏิบัติผิด จึงทำให้เห็นช้าในการรบรรลุมรรคผลนิพพาน


พระพุทธเจ้าตรัสว่า สิ่งที่ทำให้เนิ่นช้าในการบรรลุวิมุตติคือ มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิด
มิจฉาญาณะ รู้ผิด มิจฉาวิมุตติ ใจหลุดพ้นผิด เพราะมานะ ความสำคัญ


สิ่งที่ทำให้รวดเร็วในการบรรลุ วิตุติ คือ สัมมาทิฏฐิ เห็นถูก
สัมมาญาณ รู้ถูก สัมมาวิมุติ ใจหลุดพ้นถูกคือใจหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่น


รวมความอันสำคัญคือ ใจเห็นถูกเร็ว ใจเห็นผิดช้า ซึ่งท่านเรียกว่าทิฏฐิจริต


คัดลอกจากหนังสืออัตโนประวัติ พระอาจารย์บุญจันทร์ จนฺทวโร

http://agaligohome.com/index.php?topic=4155.msg10487#msg10487

3
วิจยะ...การเลือกเฟ้น
   
   ธัมมวิจยะ ผู้มีสติมีความรอบรู้ การเลือกเฟ้นหาหมวดธรรมมาปฏิบัติให้ถูกกับนิสัยตัวเองนั้น เลือกได้ง่าย วิจยะ แปลว่าเลือกหรือเฟ้น หรือว่าเลือกเฟ้นก็ได้ในความหมายอย่างเดียวกัน ฉะนั้นการเลือกเฟ้น จึงเป็นนิสัยของคนที่มีสติปัญญา เป็นนิสัยของผู้มีความคิด จะเชื่อในตัวบุคคล หรือจะเชื่อในธรรมอย่างไร ก็ต้องมีวิจยะมาโยนิโสใคร่ครวญพิจารณาก่อนการตัดสินใจเชื่อ จึงนับว่าเป็น สทฺธา ญาณ สมฺปยุตฺ เป็นผู้เชื่ออะไรอย่างมีเหตุผล และพิจารณาด้วยปัญญาก่อนจึงเชื่อทีหลัง การเชื่อบุคคลก่อนธรรมหรือการเชื่อธรรมก่อนบุคคล อย่างไหนจะมีผลดีกว่ากัน เอาแน่ไม่ได้
   
   ในบางครั้งเราได้อ่านหนังสือธรรมะจากท่านองค์นั้นแล้ว เกิดความเคารพเชื่อถือในธรรม จึงตามหาตัวบุคคลและเชื่อในตัวบุคคลทีหลัง หรือเชื่อในตัวบุคคลก่อน เช่น เห็นเข้าแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จะเห็นเพียงกิริยาหรือลักษณะพอเชื่อถือได้ หรืออาจเป็นเพราะนิสัยตรงกัน จึงได้เกิดความเชื่อในตัวบุคคลก่อน เมื่อได้ฟังธรรมจากท่านแล้วก็เกิดความเคารพเชื่อถือในธรรมทีหลัง ถ้าผู้มีนิสัยในทางปัญญาจะเอาวิจยะมาประกอบในการเลือกเฟ้นนั้นได้ง่าย จะเลือกเฟ้นในตัวบุคคล จะเลือกเฟ้นเอาหมวดธรรมมาปฏิบัติ ก็เป็นของง่ายสำหรับผู้มีสติปัญญาที่ดี ถ้าผู้ไม่มีสติปัญญา ไม่มีวิจยะธรรมภายในใจ จะเชื่ออะไรก็เป็นความเชื่ออย่างงมงาย จะเชื่อธรรมหรือเชื่อบุคคลก็ไม่เป็นไปตามใจที่เราเชื่อ ก็เพราะเชื่อขาดจากปัญญาความรอบรู้นั้นเอง
   
   วิจยะ หมายความว่าการเลือกเฟ้น
   
   ทิฏฐิวิจยะ การเลือกเฟ้นในความเห็น ความเห็นใดที่เป็นไปในความถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ถูกต้องเป็นธรรมก็ดี ต้องนำความเห็นนั้นๆ เข้ามาทำการเลือกเฟ้นด้วยสติปัญญาอย่างมีเหตุมีผล เอาไตรลักษณ์มาเป็นตัวตัดสินอ้างอิง ถ้าความเห็นใดไม่เป็นไปในไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความเห็นนั้นไม่ถูกต้องใช้ไม่ได้ ละความเห็นประเภทนั้นทิ้งไปเสีย ถ้าความเห็นใดเป็นไปตามไตรลักษณ์ ความเห็นนั้นถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าทั้งหลาย นั้นเป็นความเห็นที่ถูกต้องเป็นธรรมที่สุดแล้ว
   
   สังกัปปวิจยะ เลือกเฟ้นในความคิด ตามปกติ ใจจะคิดได้ในทุกอารมณ์ อารมณ์ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ หรืออารมณ์อย่างอื่นใดก็ตาม ใจจะคิดได้ทั้งหมด ผิดถูกชั่วดีทางโลกทางธรรมคิดได้ทั้งนั้น ถ้าฝึกใจให้คิดไปในทางไหนอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยโน้มเอียงไปในสิ่งนั้นๆ จนกลายเป็นนิสัย ถ้าฝึกใจไปคิดในทางโลกอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยๆ เอนเอียงไปในทางโลก ถ้าฝึกใจไปติดอยู่ในเรื่องของกามคุณคือ คิดในรูป คิดในเสียง คิดในกลิ่น คิดในรสของอาหาร คิดในการสัมผัสที่อ่อนนุ่มอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยๆ เกิดความยินดีพอใจมีความกำหนัดในกามคุณมากขึ้น ถ้าฝึกใจไปคิดอยู่กับความร่ำรวยในลาภสักการะอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยๆ เกิดเป็นความโลภขึ้น
   
   ถ้าฝึกใจไปคิดพิจารณาในเรื่องอนิจจัง เรื่องทุกขัง เรื่องอนัตตาอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยๆ เกิดความรู้เห็นตามความเป็นจริง ฉะนั้นจงฝึกใจให้คิดให้ดำริในไตรลักษณ์อยู่เนืองๆ อย่าเอาความโง่มาปิดกั้นปัญญาตัวเอง ขณะนี้ต้องการฝึกใจให้มีความรอบรู้ในเหตุและผลด้วยตนเอง เราต้องมีความขยันหมั่นคิดพิจารณาให้รู้เห็นทุกข์โทษภัยที่เกิดขึ้นจากกามคุณอยู่เสมอ
   
   การฝึกคิดพิจารณาในสิ่งใดก็ตาม ถ้าให้เป็นไปในไตรลักษณ์แล้ว ความคิดนั้นจะไม่ผิดจากธรรมแต่อย่างใด การฝึกใจให้มีการดำริพิจารณา หรือฝึกใจให้คิดในทางธรรมนี้ จึงเป็นวิธีใหม่ของใจ ในอดีตที่ผ่านมายาวนาน ความคิดของใจจะเป็นไปในทางโลกอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ใจไปยึดติดในสิ่งที่คิดนั้นๆ อย่างฝังตัวจนกลายเป็นนิสัยความเคยชิน ฉะนั้นจึงมาฝึกใจให้มีความคิดเสียใหม่ เพื่อจะได้ลืมแนวความคิดเก่าๆ นั้นไปเสีย ผู้ที่ยังไม่เคยคิดพิจารณาในทางปัญญา การเริ่มใหม่ก็จะมีความสับสนพอสมควร เมื่อคิดพิจารณาในหลักความเป็นจริงอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยๆ พัฒนาในแนวความคิดไปเองได้
   
   การฝึกคิดพิจารณานี้ อย่าไปใฝ่ใจในการทำสมาธิให้สงบมากนัก เพราะความสงบในสมาธิเป็นตัวปิดกั้นปัญญาอย่างสนิททีเดียว ถ้าจะทำสมาธิก็เพียงนึกคำบริกรรม หรือกำหนดลมหายใจเข้าออก ให้ใจมีความตั้งมั่นพอประมาณสัก ๑๐ – ๑๕ – ๓๐ นาที แล้วหยุดการนึกคำบริกรรมนั้นเสีย แล้วน้อมใจมาคิดพินิจพิจารณาให้เป็นไปตามหลักความเป็นจริง เป็นเรื่องของตัวเองบ้าง เรื่องของคนอื่นสัตว์อื่นบ้าง หรือคิดพิจารณาในเรื่องภายนอกแล้ว ก็น้อมเข้ามาหาตัวเองให้พิจารณาลงจุดเดียวกันคือ ไตรลักษณ์ จะอยู่ในที่ไหนไปเที่ยวในที่ใด จะนั่งรถนั่งเรือนั่งเครื่องบิน ก็พิจารณาด้วยปัญญาได้ ไม่ต้องมานึกคำบริกรรมทำสมาธิให้เสียเวลา ให้พิจารณาด้วยปัญญาได้เลย จะรับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำล้างหน้าแปรงฟัน ใช้ปัญญาพิจารณาได้ทั้งนั้น จะอยู่ในอิริยาบถใดก็ใช้ปัญญาพิจารณาได้ไม่จำเป็นต้องนึกคำบริกรรม เว้นเสียแต่หลับไปเท่านั้น

4
ปัญญา ๓
[/b][/size]
   
   พระพุทธเจ้าได้วางหลักปัญญา สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบเอาไว้เป็นจุดเริ่มต้น ถ้าปัญญาความเห็นชอบเริ่มต้นถูกแล้ว การรักษาศีล การทำสมาธิก็จะเกิดความเห็นชอบต่อเนื่องกันไปทั้งหมด จะตัดขาดจากมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิดให้หมดไปจากใจทันที ส่วนการศึกษาจะเขียนสลับกันไปมาอย่างไรก็ได้ ในภาคปฏิบัติแล้วจะต้องเริ่มจากปัญญาความเห็นชอบตามแนวทางเดิมที่พระพุทธเจ้าได้วางเอาไว้ เช่น ปัญญา ๓ ก็ต้องเริ่มจากสุตตมยปัญญา คือปัญญาภาคการศึกษาในหลักปริยัติ จินตามยปัญญา คือปัญญาในหมวดวิจัยวิจารณ์ วิเคราะห์ในหมวดธรรมนั้นๆ ว่าปริยัติหมวดไหนมีความหมายเป็นอย่างไร และจะนำมาปฏิบัติได้อย่างไร
   
   จินตามยปัญญาคือปัญญาในระดับขั้นตีความในปริยัติ ถ้าตีความในหมวดปริยัติถูกก็จะเกิดความเข้าใจถูกและเกิดความเห็นถูก ดำริถูก เมื่อนำมาปฏิบัติก็จะปฏิบัติถูก ผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติก็จะถูกไปตามกันทั้งหมด ถ้าตีความในหมวดปริยัติผิด ก็จะเกิดความเข้าใจผิด และจะเกิดความเห็นผิดความดำริผิด เมื่อนำมาปฏิบัติก็จะเป็นการปฏิบัติผิด ผลที่เกิดขึ้นก็จะออกมาในทางที่ผิด ผู้ปฏิบัติก็จะได้รับผลที่ผิดๆ ต่อไป ฉะนั้นจินตามยปัญญา จึงเป็นเข็มทิศชี้ทาง หรือเป็นตัวกำหนดทิศทางในการปฏิบัติ จะปฏิบัติผิดเป็นมิจฉาปฏิบัติ หรือปฏิบัติถูก ก็ขึ้นอยู่กับจินตามยปัญญาตัวนี้ จินตามยปัญญาเป็นปัญญาที่วิจัยวิเคราะห์วิจารณ์ในหมวดธรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดเจนในหมวดธรรมนั้นได้อย่างถูกต้อง ฉะนั้นจินตามยปัญญาจึงเป็นหลักตีความในปริยัติ หรือเป็นตัวช่วยในปริยัติให้เกิดความแจ่มแจ้งชัดเจน
   
   ถ้าจินตามยปัญญาตีความในหลักปริยัติไม่เกิดความกระจ่างชัดเจน จะเป็นปัญหาในการปฏิบัติเป็นอย่างมาก เพราะว่าต้นทางของการปฏิบัติก็คือจุดนี้ จะออกไปเป็นสัมมาปฏิบัติก็เริ่มต้นจากจุดนี้ทั้งหมด ฉะนั้นผู้ปฏิบัติภาวนาต้องตั้งหลักไว้ให้ดี ที่เราสวดกันอยู่เสมอว่า สุปฏิปันโน คือการปฏิบัติดี อุชุปฏิปันโนคือการปฏิบัติตรง ญายปฏิปันโนคือผู้ปฏิบัติเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงในเญยธรรมทั้งหลาย สามีจิปฏิปันโนคือผู้ปฏิบัติสมควรแก่ธรรมอันชอบยิ่ง ถ้าไม่มั่นใจในอุบายการปฏิบัติ ไม่แน่ใจว่าอุบายนี้ผิดหรือถูก ถ้ามีความสงสัยลังเล ไม่มีความมั่นใจในอุบายการปฏิบัตินั้น อย่าพึ่งตัดสินใจในการปฏิบัตินั้นเลย เหมือนออกรถ  ถ้าไม่มั่นใจในเส้นทางที่จะไปก็ต้องจอดรถดูแผนที่นั้นให้ดี จนเกิดความมั่นใจในเส้นทางดีแล้วจึงออกรถลงสู่ถนน จึงจะถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการ นี้ฉันใด การปฏิบัติธรรมก็ฉันนั้น ถ้าปฏิบัติแบบโมเมเรื่อยเปื่อย ไม่มีหลักมีเกณฑ์ก็จะเกิดเป็นปัญหาขึ้นได้ เมื่อแก้ปัญหาให้แก่ตัวเองไม่ได้ก็จะเข้าหาหลวงพ่อหลวงตา นี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่จะทำให้การปฏิบัติผิดได้ถูกได้  ถ้าหลวงพ่อหลวงตายังมีความเข้าใจผิด มีความเห็นผิดอยู่ เราก็จะได้รับอุบายในการปฏิบัติที่ผิดๆ นั้นต่อไป ถ้าหลวงพ่อหลวงตามีอุบายในการปฏิบัติที่ถูก ก็ถือว่าเรามีความโชคดีไป จะได้รับข้อมูลในอุบายที่ถูกต้อง และปฏิบัติให้ตรงต่อมรรคผลนิพพานได้อย่างแน่นอน
   
   ฉะนั้น สุตตมยปัญญา จึงเป็นคู่กันกับปริยัติ จินตามยปัญญา จึงเป็นคู่กันกับปฏิบัติ ภาวนามยปัญญา จึงเป็นคู่กันกับปฏิเวธ  การปฏิบัติต้องจับคู่ให้ถูก ถ้าจับคู่ไม่ถูก การปฏิบัติก็จะเกิดความสับสนลังเล จับต้นชนปลาย เรียกว่าปฏิบัติภาวนาผิดสูตรนั้นเอง เหมือนทำอาหารหวานคาว ถ้าทำผิดสูตรแล้วจะรับประทานไม่ได้เลย เดี๋ยวจับเอาอาหารคาวไปผสมกับอาหารหวาน เดี๋ยวจับเอาอาหารหวานไปผสมกับอาหารคาว รสชาติที่ออกมา ผู้ผสมอาหารเองก็รับประทานไม่ได้ ว่าอาหารสูตรไหนกันแน่ นี้ฉันใด ผู้ภาวนาปฏิบัติ ถ้าตั้งหลักผิดสูตรเมื่อไร การปฏิบัติก็จะไขว้เขวเป๋ไปเป๋มาเดี๋ยวก็หลุดออกจากสัมมาปฏิบัติไปเสีย หรือหลุดเข้าไปสู่ทางตัน ช่องแคบ ถอยหลังก็ไม่ได้ เดินหน้าก็ไม่ได้ นั้นคือมีความติดใจหลงใหลอยู่ในความสงบ เพลิดเพลินอยู่ในฌานนั้นเอง สุตตมยปัญญา เป็นปัญญาภาคการศึกษาในปริยัติ คือหมวดธรรม หมวดวินัย หมวดอภิธรรมให้เข้าใจ หรือจะมีความเข้าใจเฉพาะข้อธรรมข้อใดข้อหนึ่ง พอที่จะนำมาปฏิบัติได้และปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น จึงเรียกว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
   
   จินตามยปัญญา คือการตีความในปริยัติ การวิจัยวิเคราะห์วิจารณ์ และการเลือกเฟ้นธรรมในหมวดปริยัตินั้น เพื่อเอามาเป็นอุบายในการปฏิบัติ การปฏิบัติดี การปฏิบัติตรง การปฏิบัติเพื่อรู้จริงเห็นจริงในเญยธรรม การปฏิบัติชอบยิ่งก็เริ่มจากจุดนี้ จินตามยปัญญาเป็นคู่กันกับปฏิบัติ ถ้าเลือกเฟ้นหมวดธรรมมาปฏิบัติให้ถูกกับจริตนิสัยของตัวเองแล้ว ความก้าวหน้าความราบรื่นก็จะไหลเข้าไปสู่กระแสแห่งมรรคผลนิพพาน จากนั้นก็จะรวมตัวเข้าเป็นภาวนามยปัญญาอันเป็นคู่กันกับปฏิเวธ ดังนี้
   
   ภาวนามยปัญญา ที่เป็นคู่กับปฏิเวธนี้ เป็นหลักนิยตธรรม เป็นปัญญาที่จะตัดสินชี้ขาดจากปุถุชนจะก้าวขึ้นสู่อริยชนก็อยู่ในจุดนี้ ผู้จะได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ผู้จะได้บรรลุธรรมเป็นพระสกิทาคามี ผู้จะได้บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามี และผู้จะได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ก็อยู่ในจุดนี้ทั้งหมด ใครจะได้บรรลุธรรมในระดับใด นั้นจะขึ้นอยู่กับบารมีของแต่ละท่าน ผู้สร้างบารมีมาไม่มากนัก ก็จะได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันไป หรือผู้สร้างบารมีมากขึ้นไปกว่านี้ ก็จะได้บรรลุเป็นพระสกิทาคามีเป็นพระอนาคามีไป ถ้าผู้สร้างบารมีมามากบริบูรณ์เต็มที่แล้ว ก็จะได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ หมดกิเลสอาสวะยุติการเวียนว่ายเกิดตายในภพทั้งสามนี้ทันที ถึงจะมีชีวิตอยู่ก็อยู่ด้วยความบริสุทธิ์ในวิมุตินิพพานตลอดไป ขันธ์ทั้งห้าคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เพียงสมมติพูดกัน กาย เวทนา จิต ธรรม ก็สักว่าไปตามสมมติด้วยกิริยา ตัวอกิริยานั้นได้ปฏิเสธในอัตตาตัวตนและปฏิเสธในสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไปแล้ว ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติเมื่อได้บรรลธรรมในขั้นใดระดับใด ผู้นั้นจะเป็นปัจจัตตังรู้ได้เฉพาะตัว ไม่จำเป็นจะไปถามใครๆ และไม่จำเป็นที่จะไปรับคำพยากรณ์จากใครๆ ทั้งสิ้น ใครจะรู้หรือไม่รู้จึงไม่ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอะไร ใครจะนินทาสรรเสริญอย่างไรก็ให้เป็นไปตามภาษาของโลก จะหลีกหนีจากสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เลย แม้พระพุทธเจ้าก็ยังถูกนินทาว่าร้าย และได้รับความยกย่องสรรเสริญอยู่นั้นเอง
   
   ภาวนามยปัญญานี้ เป็นผลต่อเนื่องมาจากสุตตมยปัญญาและจินตามยปัญญา เป็นฐานรองรับไว้ดีแล้ว จึงเกิดเป็นภาวนามยปัญญา หรือเรียกว่าวิปัสสนาญาณ ปัญญาในวิปัสสนาญาณนี้เป็นปัญญาที่เกิดขึ้นเพื่อประหารลบล้างกิเลสตัณหาโดย เฉพาะ เมื่อวิปัสสนาญาณที่มีความแก่กล้าเต็มที่ พร้อมทั้งบารมีที่สมบูรณ์ ก็จะประหารกิเลสตัณหาน้อยใหญ่ทั้งหยาบละเอียดให้หมดไปในอาสวักขยญาณได้ใน ชั่วระยะพริบตาเดียวเท่านั้น ฉะนั้นวิปัสสนาญาณที่เป็นของจริง เมื่อเกิดขึ้นกับใคร จะเป็นนักบวชหรือฆราวาส จะเกิดกับผู้หญิงผู้ชาย ในฐานะอะไร ไม่สำคัญ เมื่อวิปัสสนาญาณได้เกิดขึ้นแล้วกับใครจะไม่มีการเสื่อมสลายไป จะทำหน้าที่ประหารกิเลสตัณหาให้หมดไปจากใจโดยถ่ายเดียว
   
   ปัญญาในวิปัสสนาญาณนี้เองที่ผู้ปฏิบัติมีความต้องการอยากให้เกิดขึ้น ผู้สอนในวิธีทำสมาธิเพื่อให้จิตมีความสงบ มีความต้องการให้ปัญญาเกิดเพื่อจะได้ละอาสวะกิเลสให้หมดไปสิ้นไปจากใจ ก็คือ ปัญญาตัวนี้นี่เอง ดังบาลีว่า สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหพฺพลาโหติมหานิสงฺสา ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิวิมุจฺจติ เสยฺย ทิทํ กามาสวา อวิชฺชาสวา ภวาสวา เมื่อจิตมีความสงบตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมเกิดปัญญาขึ้น เมื่อปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมละกิเลสทั้งหลายไปได้คือ กามกิเลสทั้งหลาย อวิชชาความไม่รู้จริง ละภพน้อยใหญ่ให้หมดไปจากใจได้ ปัญญาอย่างนี้นี่เองที่ผู้ทำสมาธิต้องการให้เกิดขึ้น ปัญญาวิปัสสนาญาณนี้เกิดขึ้นจริง เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้ละอาสวะกิเลสตัณหาได้จริง แต่ปัญญาวิปัสสนาญาณนี้ไม่ได้เกิดจากสมาธิโดยตรง ปัญญานี้จะเกิดต่อเนื่องมาจากปัญญาในสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ สัมมาสังกัปโป ปัญญาในการดำริ พิจารณาให้ถูกต้องตามความเป็นจริงต่อเนื่องมาจากสุตตมยปัญญา เกิดขึ้นต่อเนื่องในจินตามยปัญญาที่เรียกว่าปัญญาในวิปัสสนา เมื่อปัญญาในวิปัสสนามีความแก่กล้าแล้ว ก็จะเกิดปัญญาวิปัสสนาญาณขึ้น แล้วละอาสวะกิเลสตัณหาให้หมดไปจากใจดังที่ได้อธิบายมาแล้วนั้น ส่วนการทำสมาธิให้จิตมีความสงบดีแล้ว จะเกิดปัญญาขึ้นนั้นไม่จริง เพราะสมาธิเป็นเพียงองค์ประกอบ เสริมปัญญาให้มีกำลังใจได้พิจารณาด้วยปัญญาต่อไปเท่านั้น
   
   การทำสมาธิเป็นเพียงอุบายพักใจให้มีพลัง เมื่อจิตมีพลังจากการทำสมาธิแล้ว เอาพลังที่เกิดจากสมาธินี้ไปเสริมปัญญาที่ฝึกไว้ดีแล้ว ให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงในสัจธรรม เหมือนถ่านไฟฉายถึงจะมีกำลังไฟอัดแน่นเต็มก้อนอยู่ก็ตาม ถ้าไม่มีสายไฟเชื่อมโยงต่อกับหลอดไฟ หรือหลอดไฟขาดไปเสีย หรือหลอดไฟก็ไม่มีและสายไฟก็ไม่มีเชื่อมโยงต่อกัน จะให้เกิดความสว่างขึ้นเฉพาะถ่านไฟนั้นไม่ได้เลย ผู้ที่ไม่เคยฝึกปัญญามาก่อน หรือไม่มีปัญญาพิจารณาในธรรมมาก่อน กำลังใจที่เกิดขึ้นจากสมาธิจะเอาไปเสริมอะไร ก็เป็นเพียงความสุขใจหดตัวอยู่ในความสงบ หดตัวอยู่ในรูปฌานอรูปฌานเท่านั้นเอง ต้องอ่านประวัติของพระพุทธเจ้าดูบ้าง เมื่อครั้งพระองค์ได้ไปทำสมาธิอยู่กับดาบสทั้งสอง พระองค์ยิ่งมีความสงบในสมาธิเป็นอย่างมาก และมีความชำนาญในการเข้าฌานสมาบัติทุกรูปแบบ
   
   ทำไมปัญญาจึงไม่เกิดจากสมาธิแก่พระองค์บ้าง หรือดาบสทั้งสองก็มีความชำนาญในการทำสมาธิ มีความชำนาญในฌานเป็นอย่างมาก ถึงขนาดนั้นปัญญาก็ไม่ได้เกิดขึ้นแก่ดาบสนั้นเลย ฉะนั้นสมาธิจึงไม่ทำให้เกิดปัญญาแต่อย่างใด เป็นเพียงทำสมาธิเพื่อเอาไปเสริมปัญญาที่มีอยู่เท่านั้น ฐานของปัญญาก็มีอีกฐานหนึ่งที่เรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน ฐานของสมาธิก็มีอีกฐานหนึ่ง เรียกว่าสมถกรรมฐาน แต่ละฐานก็ต้องมีอุบายสร้างมาคนละอย่าง แล้วนำมาร่วมกันในการปฏิบัติธรรม เรียกว่าปัญญาเป็นกำลังหนุนสมาธิ สมาธิมีกำลังหนุนปัญญาหรือเรียกว่า ปัญญาอยู่ที่ไหน สมาธิอยู่ในที่นั้น  สมาธิอยู่ที่ไหน ปัญญาก็อยู่ในที่นั้น แต่เป็นสมาธิความตั้งใจมั่นเท่านั้น จึงเป็นคู่ทำงานร่วมกันกับปัญญาได้ ส่วนสมาธิความสงบจะหมดสิทธิ์ในการใช้ปัญญาทันที


5
มรรค ๘

หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ

   
   มรรค ๘ นี้จึงเป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนาหรือเรียกว่ารากฐานของพุทธศาสนาก็ไม่ผิด ฉะนั้น พุทธศาสนาจึงท้าทายในการพิสูจน์ในเหตุและผล ทุกคนในโลกนี้นำไปปฏิบัติได้ ไม่เลือกชาติชั้นวรรณะ ถ้าปฏิบัติให้เป็นไปตามมรรค ๘ ที่พระพุทธเจ้าได้เรียบเรียงไว้แล้ว ผู้นั้นจะไม่ผิดหวัง ในครั้งพุทธกาล มีพุทธบริษัทนำไปปฏิบัติได้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นจำนวนมาก ในยุคนั้นมรรค ๘ ยังไม่ได้แปรสภาพ ผู้ปฏิบัติก็ไม่ได้เกิดความสับสนลังเล พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วอย่างไรก็ปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น ก็พากันได้บรรลุมรรคผลกันไปตามบารมีของแต่ละบุคคล
   
   ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้วางปัญญาเป็นหลักยืนตัวเอาไว้ เพื่อให้ศึกษาในปริยัติ ศึกษาในภาคปฏิบัติ ให้เกิดผลเป็นปฏิเวธ ในภาคปริยัติก็แยกออกมาเป็นหมวดธรรมต่างๆ ที่เรียกว่าปิฎก เช่น พระสุตตันตปิฎก พระวินัยปิฎก และปรมัตถปิฎก
   
   พระสุตตันตปิฎกก็แยกออกมาเป็นหมวดหมู่ตามหนังสือที่อ่านกันอยู่ในขณะนี้ พระวินัยปิฎกก็แยกออกมาเป็นหมวดต่างๆ เช่น หมวดศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ ให้นำมาปฏิบัติได้ตามความเหมาะสม หมวดปรมัตถ์ ก็แยกออกเป็นหมวดจิต เจตสิก ที่รู้กันในหมวดอภิธรรม การศึกษาในระดับนี้จึงเรียกว่าปริยัติธรรม
   
   เมื่อจะนำมาปฏิบัติ ก็ใช้จินตามยปัญญา เอาหมวดธรรมนั้น ๆ มาตีความ ว่าธรรมหมวดไหนมีความหมายอย่างไร การตีความในหมวดธรรมนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าตีความในหมวดธรรมผิดไป ความเข้าใจผิด ความเห็นผิดก็จะติดตามมา เมื่อนำมาปฏิบัติก็จะเกิดเป็นมิจฉาปฏิบัติ เมื่อนำมาภาวนาก็จะเป็นมิจฉาภาวนา จะไม่เป็นไปในทางมรรคผลนิพพานแต่อย่างใด
   
   ถ้าตีความในหมวดธรรมได้อย่างถูกต้อง ก็จะเกิดความเข้าใจถูก เกิดความเห็นถูกต้องชอบธรรม เมื่อนำมาปฏิบัติก็จะเป็นสัมมาปฏิบัติ จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นปฏิเวธไป ฉะนั้นการตีความในหมวดธรรมที่จะนำมาปฏิบัตินั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมากทีเดียว
   
   มรรค ๘ ที่พระพุทธเจ้าได้เรียบเรียงเอาไว้ ก็มี ๓ หมวดหมู่ด้วยกันดังนี้
   
   ๑.    สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปโป การดำริพิจารณาชอบนี้คือหมวดของปัญญา
   ๒.   สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันโต การงานชอบ สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบ นี้เป็นหมวดของศีล
   ๓.   สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ นี้เป็นหมวดของสมาธิ
   
   ถ้าเรียบเรียงให้ถูกตามหลักเดิม จะออกมาเป็น ปัญญา ศีล สมาธิ ถ้านำมาปฏิบัติก็จะปฏิบัติได้ง่ายขึ้น ให้เราพิจารณาด้วยเหตุผลว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจึงได้วางแนวทางไว้อย่างนี้ ก็เพราะคนเรามีความเห็นเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิดตามหลักความเป็นจริงอยู่แล้ว แม้การดำริคิดไปในสิ่งใดก็เป็นไปในทางมิจฉาสังกัปโป คิดไปไม่ถูกต่อหลักความเป็นจริง นี้เองพระพุทธเจ้าจึงได้วางปัญญาเป็นหลักเริ่มต้น เพื่อจะได้แก้ความเห็นผิด แก้ความคิดผิดของใจที่มีอยู่เดิมให้หมดไป จะได้เกิดความเห็นถูก เกิดความคิดถูกตามหลักความเป็นจริงได้อย่างถูกต้องชอบธรรม ความเห็นชอบ ความคิดชอบนี้เอง จะได้ไปควบคุมในการพูด ให้เกิดเป็นวาจาที่ชอบธรรมได้ เข้าไปควบคุมในการงานต่างๆ ให้เกิดเป็นการงานที่ชอบได้ เข้าไปควบคุมในการเลี้ยงชีวิต ให้เกิดเป็นการเลี้ยงชีวิตชอบได้ เข้าไปควบคุมความเพียรต่างๆ ให้เกิดเป็นความเพียรที่ชอบได้ เข้าไปควบคุมสติให้เกิดมีการระลึกชอบได้ เข้าไปควบคุมใจให้เกิดมีความตั้งมั่นชอบได้
   
   ฉะนั้น หลักปัญญาจึงเข้าไปควบคุมหมวดศีล เข้าไปควบคุมหมวดสมาธิ ถ้าไม่มีปัญญาควบคุมให้ดี ก็จะเป็นมิจฉาวาจา พูดผิดศีลผิดธรรมไป การทำงานก็จะทำผิดศีลผิดธรรม การหาเลี้ยงชีวิตก็จะหาในทางที่ผิดศีลผิดธรรม การทำความเพียร ก็จะเพียรพยายามไปในทางที่ผิดศีลผิดธรรม การระลึกได้ของสติ ก็จะระลึกไปในทางที่ผิดศีลผิดธรรม การตั้งใจมั่นก็จะตั้งไปในทางที่ผิดเป็นมิจฉาสมาธิไป นี้เองพระพุทธเจ้าจึงเอาปัญญามาเป็นหลักเริ่มต้นก็เพื่อจะเอามาแก้ปัญหาตัวมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดให้หมดไปจากใจโดยตรง แล้วเสริมสร้างความเห็นชอบ ความคิดชอบให้เกิดขึ้นกับวาจา ให้เกิดความเห็นชอบจากการงานที่ทำ ให้เกิดความเห็นชอบในการเลี้ยงชีวิต ให้เกิดความเห็นชอบในความเพียรพยายาม ให้เกิดความเห็นชอบในการระลึกได้ของสติ ให้เกิดความเห็นชอบในการตั้งใจมั่น ที่เรียกว่าปฏิบัติธรรมให้ถูกกับความเป็นธรรม ก็คือปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัมมาทิฏฐิ ปัญญาความเห็นชอบ และสัมมาสังกัปโป ปัญญาพิจารณาถูกต้องชอบธรรมนั้นเอง
   
   ฉะนั้นการปฏิบัติถ้าเอาตามหลักเดิมของพระพุทธเจ้าได้วางเอาไว้ จึงง่ายต่อการปฏิบัติจะไม่เกิดความสับสนลังเล ส่วนหลักสิกขา ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั้นเป็นหลักปริยัติเพื่อการศึกษา ถ้าจะนำมาปฏิบัติก็ให้เป็นไปตามหลักเดิมตามแนวทางของพระพุทธเจ้าได้วางเอาไว้ เพราะปัญญาของทุกคนมีอยู่แล้ว เพียงเอามาฝึกให้เกิดความเห็นชอบเห็นจริงตามหลักความเป็นจริงเท่านั้น ความเป็นจริงก็มีอยู่ทั่วไป มีทั้งภายในภายนอก ให้พิจารณาลงสู่ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เท่านั้นเอง
   
   มิจฉา ทิฏฐิ ความเห็นผิด ถ้าเกิดความเห็นผิดแล้วก็จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เมื่อเข้าใจผิด ก็จะเกิดความคิดผิดดำริผิด และเกิดความหลงผิดติดตามมา เมื่อใจหลงผิดเป็นมิจฉาทิฏฐิเป็นต้นเหตุแล้ว ก็จะเกิดเป็นมโนทุจริตคิดชั่วไปในทางอกุศล การทำก็จะทำไปในทางอกุศล การพูดก็ชอบพูดไปในทางที่เป็นอกุศล จึงเรียกว่า กายทุจริต วจีทุจริต อันเป็นผลเนื่องมาจากมโนทุจริตที่เป็นมิจฉาทิฏฐิจากความเห็นผิดนั้นเอง ฉะนั้นผู้ปฏิบัติต้องมีสติปัญญามาแก้ไขให้เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นที่ถูกต้องชอบธรรม เมื่อใจมีความเห็นชอบเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ก็จะเกิดเป็นมโนสุจริต คิดพิจารณาในสิ่งใดก็จะเป็นธรรมไปทั้งหมด จะไม่มีพิษมีภัยให้แก่ตัวเองและคนอื่นแต่อย่างใด ก็เพราะใจมีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบนั้นเอง
     
      ฉะนั้น ผู้ประพฤติธรรมปฏิบัติธรรม ต้องวางรากฐานของสติปัญญา ความเห็นชอบนี้ให้ดี เพราะความเห็นชอบเห็นจริงตามความเป็นจริงเป็นจุดเริ่มต้น ให้แก่การประพฤติธรรมปฏิบัติธรรมทั้งหมด ถ้าปัญญาความเห็นชอบมีความมั่นคงดีแล้ว การปฏิบัติธรรมจะมีความราบรื่นก้าวหน้าไปด้วยดี ไม่มีอุปสรรคขัดข้องสับสนลังเลสงสัยในการปฏิบัติธรรมแต่อย่างใด ถ้าใจไม่มีปัญญาเป็นสิ่งรอบรู้ ย่อมเกิดความเห็นผิดเข้าใจผิดได้ง่าย ก็จะกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิไปโดยไม่รู้ตัว การปฏิบัติก็มีแต่ความสับสน ไม่แน่ใจว่าอะไรผิดอะไรถูก จึงไม่กล้าตัดสินในเหตุผลด้วยสติปัญญาของตัวเอง จึงเป็นธรรมะปรามาสลูบคลำในการปฏิบัติธรรมอยู่เรื่อยไป
     
      ฉะนั้น อุบายธรรมที่จะนำมาปฏิบัติ ต้องให้เกิดความชัดเจน ให้มีหลักยืนที่มั่นคงแน่วแน่เพื่อเป็นฐานรองรับให้แก่หมวดธรรมอื่นๆ ได้ ไม่เช่นนั้น จะเกิดความล้มเหลวไปไม่เข้าท่า การภาวนาปฏิบัติต้องจับต้นทางให้ถูก เหมือนการเดินทาง ถ้าดูแผนที่ให้เข้าใจ จะไปในสถานที่ที่ไม่เคยไปก็ไม่มีปัญหาอะไร จะไปต่างจังหวัดไปต่างประเทศก็ไม่มีอุปสรรคในการเดินทาง จะถึงจุดหมายปลายทางตามที่ต้องการแน่นอน นี้ฉันใด ผู้ปฏิบัติเพื่อจะข้ามกระแสของโลกนี้ไป ถึงจะไม่เคยสัมผัสในมรรคผลนิพพานมาก่อนก็ตาม ในเมื่อปฏิบัติให้เป็นไปในสัมมาทิฏฐิ ปัญญาความเห็นชอบที่ถูกต้องแล้ว มรรคผลนิพพานเปิดประตูรอคอยท่านอยู่แล้ว ครูอาจารย์ผู้ที่ท่านได้บรรลุมรรคผลในยุคปัจจุบัน หรือในครั้งพุทธกาลก็เช่นกัน ไม่มีใครเคยได้ไปสำรวจรู้เห็นในมรรคผลนิพพานมาก่อนแต่อย่างใด ทุกท่านต้องเชื่อในเหตุผลที่พระพุทธเจ้าได้วางเส้นทางเอาไว้ดีแล้ว มีเครื่องหมายกรุยเอาไว้เป็นระยะๆ เมื่อถึงกรุยนี้แล้วก็มองเห็นกรุยข้างหน้า เดินตามเส้นทางที่พระพุทธเจ้าได้กรุยเป็นเครื่องหมายเอาไว้ไม่ย่อท้อถดถอย ความหลงทางจะมีมาจากที่ไหน มีแต่จะย่างเข้าสู่กระแสแห่งมรรคผลนิพพานโดยถ่ายเดียว
มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด ถ้าเกิดความเห็นผิดแล้วก็จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เมื่อเข้าใจผิด ก็จะเกิดความคิดผิดดำริผิด และเกิดความหลงผิดติดตามมา เมื่อใจหลงผิดเป็นมิจฉาทิฏฐิเป็นต้นเหตุแล้ว ก็จะเกิดเป็นมโนทุจริตคิดชั่วไปในทางอกุศล การทำก็จะทำไปในทางอกุศล การพูดก็ชอบพูดไปในทางที่เป็นอกุศล จึงเรียกว่า กายทุจริต วจีทุจริต อันเป็นผลเนื่องมาจากมโนทุจริตที่เป็นมิจฉาทิฏฐิจากความเห็นผิดนั้นเอง ฉะนั้นผู้ปฏิบัติต้องมีสติปัญญามาแก้ไขให้เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นที่ถูกต้องชอบธรรม เมื่อใจมีความเห็นชอบเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ก็จะเกิดเป็นมโนสุจริต คิดพิจารณาในสิ่งใดก็จะเป็นธรรมไปทั้งหมด จะไม่มีพิษมีภัยให้แก่ตัวเองและคนอื่นแต่อย่างใด ก็เพราะใจมีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบนั้นเอง
   
   ฉะนั้น ผู้ประพฤติธรรมปฏิบัติธรรม ต้องวางรากฐานของสติปัญญา ความเห็นชอบนี้ให้ดี เพราะความเห็นชอบเห็นจริงตามความเป็นจริงเป็นจุดเริ่มต้น ให้แก่การประพฤติธรรมปฏิบัติธรรมทั้งหมด ถ้าปัญญาความเห็นชอบมีความมั่นคงดีแล้ว การปฏิบัติธรรมจะมีความราบรื่นก้าวหน้าไปด้วยดี ไม่มีอุปสรรคขัดข้องสับสนลังเลสงสัยในการปฏิบัติธรรมแต่อย่างใด ถ้าใจไม่มีปัญญาเป็นสิ่งรอบรู้ ย่อมเกิดความเห็นผิดเข้าใจผิดได้ง่าย ก็จะกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิไปโดยไม่รู้ตัว การปฏิบัติก็มีแต่ความสับสน ไม่แน่ใจว่าอะไรผิดอะไรถูก จึงไม่กล้าตัดสินในเหตุผลด้วยสติปัญญาของตัวเอง จึงเป็นธรรมะปรามาสลูบคลำในการปฏิบัติธรรมอยู่เรื่อยไป
   
   ฉะนั้นอุบายธรรมที่จะนำมาปฏิบัติ ต้องให้เกิดความชัดเจน ให้มีหลักยืนที่มั่นคงแน่วแน่เพื่อเป็นฐานรองรับให้แก่หมวดธรรมอื่นๆ ได้ ไม่เช่นนั้น จะเกิดความล้มเหลวไปไม่เข้าท่า การภาวนาปฏิบัติต้องจับต้นทางให้ถูก เหมือนการเดินทาง ถ้าดูแผนที่ให้เข้าใจ จะไปในสถานที่ที่ไม่เคยไปก็ไม่มีปัญหาอะไร จะไปต่างจังหวัดไปต่างประเทศก็ไม่มีอุปสรรคในการเดินทาง จะถึงจุดหมายปลายทางตามที่ต้องการแน่นอน นี้ฉันใด ผู้ปฏิบัติเพื่อจะข้ามกระแสของโลกนี้ไป ถึงจะไม่เคยสัมผัสในมรรคผลนิพพานมาก่อนก็ตาม ในเมื่อปฏิบัติให้เป็นไปในสัมมาทิฏฐิ ปัญญาความเห็นชอบที่ถูกต้องแล้ว มรรคผลนิพพานเปิดประตูรอคอยท่านอยู่แล้ว ครูอาจารย์ผู้ที่ท่านได้บรรลุมรรคผลในยุคปัจจุบัน หรือในครั้งพุทธกาลก็เช่นกัน ไม่มีใครเคยได้ไปสำรวจรู้เห็นในมรรคผลนิพพานมาก่อนแต่อย่างใด ทุกท่านต้องเชื่อในเหตุผลที่พระพุทธเจ้าได้วางเส้นทางเอาไว้ดีแล้ว มีเครื่องหมายกรุยเอาไว้เป็นระยะๆ เมื่อถึงกรุยนี้แล้วก็มองเห็นกรุยข้างหน้า เดินตามเส้นทางที่พระพุทธเจ้าได้กรุยเป็นเครื่องหมายเอาไว้ไม่ย่อท้อถดถอย ความหลงทางจะมีมาจากที่ไหน มีแต่จะย่างเข้าสู่กระแสแห่งมรรคผลนิพพานโดยถ่ายเดียว
   
   ฉะนั้นผู้ปฏิบัติต้องตีความให้เข้าใจ เพราะในยุคนี้สมัยนี้ ผู้ที่ตีความในหมวดธรรม ที่จะนำมาอบรมสั่งสอนให้แก่ผู้ปฏิบัติทั้งหลายนับว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ถ้าตีความในหมวดธรรมผิดก็จะเกิดความเห็นผิด เมื่อนำมาปฏิบัติก็จะผิดไปตามๆ กัน เมื่อตีความในธรรมถูกก็จะเกิดความเห็นถูก เมื่อนำมาปฏิบัติก็จะถูกไปตามๆ กันดังนี้
   ฉะนั้นการศึกษาในคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น จึงยากที่จะจบได้ หรือจบมาแล้วก็ยากที่จะนำมาปฏิบัติได้ เพราะในตำราทั้งหมดนั้นเป็นศูนย์รวมของหมวดธรรมทั้งหลายไว้ในปิฎกอันเดียวกัน จึงยากในการแยกเอาหมวดธรรมนั้นๆ มาปฏิบัติให้ถูกกับนิสัยของตัวเราได้ เหมือนกับร้านขายยาที่มียาอยู่ทุกชนิด จึงยากที่จะทราบว่าจะเอาชนิดใดมากินให้หายจากโรคภัยในตัวเองได้ เว้นเสียแต่ผู้ได้รับการตรวจร่างกายจากหมอมาดีแล้ว จึงจะกำหนดยาแต่ละชนิดมากินให้หายจากโรคได้ นี้ฉันใด อุบายธรรมในตำรานั้นมีมาก จึงยากที่จะเอาหมวดธรรมนั้นๆ มาปฏิบัติด้วยตัวเองได้ พระพุทธเจ้าที่จะหยิบยื่นอุบายธรรมให้ตรงกับนิสัยบารมีเราก็ไม่มี ขณะนี้มีเพียงพระสงฆ์ผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา ท่านก็ไม่มีญาณหยั่งรู้นิสัยบารมีให้แก่ใครๆ ได้ว่าท่านนั้นสร้างบารมีมาอย่างไร เพราะญาณนี้จะมีเฉพาะพระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้น
   
   ฉะนั้นในยุคนี้ถึงจะมีครูอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้นำเอาหมวดธรรมมาอบรมสั่งสอนแก่เราอยู่ก็ตาม ก็ยากที่จะตรงกับนิสัยบารมีของเรา จึงมีทางเลือกเดียวคือ ผู้ปฏิบัติต้องพึ่งตัวเองให้ได้ ต้องศึกษาประวัติของพระอริยเจ้าในครั้งพุทธกาลให้เข้าใจ ท่านเหล่านั้นก็เป็นปุถุชนมาก่อน ท่านปฏิบัติอย่างไร จึงได้สำเร็จเป็นพระอริยเจ้า ตามประวัติเดิมพระอริยเจ้าในครั้งพุทธกาล ทุกท่านจะต้องเริ่มต้นจากสัมมาทิฏฐิ ปัญญาความเห็นชอบด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าพระอริยเจ้าในระดับไหนจะเริ่มต้นจากจุดเดียวกัน ฉะนั้นพวกเราก็ควรเอามาเป็นเยี่ยงอย่างในการปฏิบัติธรรม ถ้าขาดสัมมาทิฏฐิ ปัญญาความเห็นชอบรอบรู้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น การปฏิบัติในวิธีอย่างอื่นก็จะเป็นทางตัน จะก้าวต่อไปอีกไม่ได้เลย ในชาตินี้จะต้องปิดฉากแห่งมรรคผลลงทันที
   
   ถึงจะมีบารมีพอที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานอยู่ก็ตาม ถ้ามีความเห็นผิดก็จะปฏิบัติผิด บุญกุศลบารมีก็ช่วยอะไรไม่ได้เลย เหมือนกับดอกบัวพร้อมที่จะพ้นจากน้ำเบ่งบานอยู่ก็ตาม ถ้าหากดอกบัวนั้นถูกกอผักตบชวาประกบเอาไว้ หรือถูกสิ่งอื่นใดมาขัดขวางปิดบังทับถม โอกาสที่ดอกบัวจะโผล่ขึ้นเหนือน้ำเพื่อรับแสงแดดได้เบ่งบานก็หมดสิทธิ์ทันที นี้ฉันใด ผู้ปฏิบัติถึงจะมีการสร้างบารมีมาดีแล้วก็ตาม ถ้ามีความเห็นผิดก็จะเกิดเป็นมิจฉาปฏิบัติตามมา ถึงจะมีความพยายามอย่างเต็มที่ ฝึกสติให้เกิดความระลึกได้อย่างมั่นคงอยู่ก็ตาม ก็ไม่สามารถทำลายตัวมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิดนี้ไปได้เลย หรือจะทำสมาธิ จิตจะมีความสงบละเอียดถึงขั้นรูปฌาน อรูปฌาน มีความตั้งมั่นอย่างแน่วแน่ มีความสงบมากติดต่อกันเป็นเวลายาวนานก็ตาม ก็ไม่สามารถเอามาทำลายตัวมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดให้หมดไปจากใจได้ เท่านี้ยังไม่พอ การมีความเพียรมาก สติระลึกได้ดี สมาธิที่มีความสงบแนบแน่นทั้งหมดนั้น ก็จะมารวมพลังให้แก่มิจฉาทิฏฐิ เกิดความเห็นผิดมากขึ้นก็เป็นได้ เหมือนกับดาบสทั้งสองเคยเป็นครูสอนให้แก่พระพุทธเจ้าของเราในสมัยนั้น ก่อนการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าไม่กี่วัน ดาบสทั้งสองก็ได้มรณะไปเสีย พระพุทธเจ้ายังดำริว่า ถ้าดาบสทั้งสองได้ฟังการแสดงธรรมจากเรา ดาบสทั้งสองก็จะได้บรรลุธรรมแน่นอน นี้ฉันใด บารมีถึงจะมีมากน้อยอยู่ก็ตาม ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้องตามแนวแห่งมรรคผลนิพพาน ในชาตินี้ก็พลาดโอกาสไป แต่บารมีนั้นยังไม่หายไปไหน ยังมีอยู่ที่ใจตามเดิม ในโอกาสชาติหน้า ถ้าได้ครูผู้เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นที่ถูกต้องก็มีโอกาสได้บรรลุเป็นพระอริยเจ้าได้ ถ้าได้ครูสอนผิดและปฏิบัติผิด ก็จะพลาดโอกาสจากพระอริยเจ้าต่อไปอีกยาวนานทีเดียว
   
   ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมเพื่อรื้อถอนอาสวะกิเลสให้หมดไปจากใจ มิใช่ว่าจะเอาความโง่เขลาปัญญาทรามเข้าไปแก้ไข จะเป็นไปได้เฉพาะผู้ที่มีความฉลาดรอบรู้ทางสติปัญญา มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบเห็นจริงเท่านั้น เมื่อความเห็นชอบเริ่มต้นที่ถูกต้องแล้ว มรรคข้ออื่นๆ ก็จะเกิดความชอบธรรมไปทั้งหมด พระอริยเจ้าทั้งหลายในศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ มาและพระอริยเจ้าทั้งหลายในศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้ก็ดี หรือพระอริยเจ้าทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นในศาสนาของพระพุทธองค์ต่อๆ ไปก็ดี การปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุเป็นพระอริยเจ้านั้นจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การละอาสวะกิเลสให้หมดไปจากใจก็จะเป็นหลักในสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบเห็นจริงตามหลักความเป็นจริงเหมือนกัน ผู้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันก็เหมือนกัน ผู้บรรลุธรรมเป็นพระสกิทาคามีก็เหมือนกัน ผู้บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามีก็เหมือนกัน ผู้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ก็เหมือนกัน เฉพาะพระอรหันต์ในขั้นสุกขวิปัสสโก ในขั้นเตวิชโช ในขั้นฉฬภิญโญ ในขั้นปฏิสัมภิทัปปัตโต ก็มีความบริสุทธิ์สิ้นอาสวะเหมือนกัน ผู้สิ้นอาสวะได้หมดจดไม่มีเหลือ จึงนับว่าผู้มีความบริสุทธิ์อย่างสมบูรณ์ นั้นเรียกว่านิพพาน ความบริสุทธิ์ของพระอรหันต์ ความบริสุทธิ์ของพระปัจเจกพุทธเจ้า และความบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า ก็ให้ชื่อว่าความบริสุทธิ์เหมือนกัน นิพพานคือการดับอันสนิทแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เป็นผู้หมดเชื้อที่จะก่อภพก่อชาติเกิดตายอีกต่อไป


6
ความคิดฟุ้ง
   
   การเกิดความคิดฟุ้งนั้นมีสองลักษณะ ๑. ฟุ้งซ่าน ๒. ฟุ้งไปตามสังขารการปรุงแต่งในสมมติ ฟุ้ง ๒ ลักษณะนี้ต่างกัน ดังจะอธิบายพอเป็นสังเขปดังนี้
   
   ๑. ลักษณะจิตฟุ้งซ่าน เป็นความคิดที่เลื่อนลอย เป็นความคิดกระจายไปในหลายๆ เรื่อง แต่ละเรื่องเมื่อคิดไป จะเกิดความสับสนจับต้นชนปลาย ไม่หนักแน่น ไม่มีความมั่นใจว่าความคิดนั้นผิดหรือถูก ไม่สามารถตัดสินใจได้ เป็นความคิดที่โลเลสะเปะสะปะ เรื่อยเปื่อย เป็นความคิดที่ทำให้เกิดความลังเลไม่แน่ใจ จึงเกิดความสงสัยในความคิดของตัวเองแบบหาข้อยุติสรุปลงไม่ได้ เพราะมีหลายเรื่องที่นำมาคิดช่วงเดียวกัน จึงเป็นความคิดในเรื่องนั้นบ้าง คิดในเรื่องนี้บ้าง จะนำมาเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินใจไม่ลงตัว จึงเกิดความรำคาญ และเกิดความหงุดหงิดขึ้นที่ใจ เกิดความฉุนเฉียวโกรธง่าย ไม่มีความเพียรที่จะทำอะไร จะทำงานอะไรก็ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ถึงจะทำไปผลของงานก็จะออกมาไม่ดี
   
   ลักษณะความฟุ้งซ่านนี้จะมีอารมณ์ที่ไม่ชอบใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งตกค้างอยู่ ที่ยังแก้ไขไม่ได้เป็นต้นเหตุ ในเมื่อนึกคำบริกรรมทำสมาธิไป ก็จะมีอารมณ์ประเภทนี้เกิดขึ้น สติคุมอารมณ์ไม่อยู่ ก็จะเกิดความฟุ้งไปในอารมณ์นั้นๆ ในลักษณะอย่างนี้มิใช่ว่าจะเกิดในช่วงทำสมาธิเท่านั้น อยู่ตามปกติธรรมดาอารมณ์ความฟุ้งซ่านก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน หรือพิจารณาในหมวดธรรมะอะไรอยู่ ถ้ามีอารมณ์ประเภทนี้แทรกเข้ามา ถ้าสติปัญญาไม่ดี ไม่มีความฉลาดในอุบายที่จะนำมาแก้ไข ก็จะกลายเป็นความฟุ้งซ่านไปได้
   
   ๒. จิตฟุ้งไปตามสังขาร คำว่าสังขารก็คือ สังขารจิตที่คิดไปตามอารมณ์ที่เรารัก เรียกว่า อิฏฐารมณ์ อารมณ์นี้จะมีอยู่กับทุกๆ คน มีทั้งอารมณ์เก่าและอารมณ์ใหม่ อารมณ์เก่าหมายถึง อารมณ์ที่สะสมมาในอดีตติดอยู่กับใจจนกลายเป็นนิสัยเจ้าอารมณ์ อารมณ์ใหม่หมายถึง การสัมผัสจากอายตนะ คือ ตาสัมผัสรูป หูสัมผัสเสียง จมูกสัมผัสกลิ่น ลิ้นสัมผัสรส กายสัมผัสในสิ่งที่อ่อนแข็ง
   
   การสัมผัสในอายตนะนี้เอง จึงเป็นมูลเหตุให้เกิดอารมณ์ขึ้นที่ใจ เมื่ออารมณ์มีในใจ จึงเกิดความชอบใจและไม่ชอบใจเกิดขึ้น อารมณ์ที่ไม่ชอบใจจึงเกิดความเกลียดชัง ไม่ชอบใจในอารมณ์นั้นๆ จึงเกิดความทุกข์ใจไม่สบายใจขึ้น จึงเกิดการปรุงแต่ง คิดหาวิธีที่จะเอาชนะในการทำอย่างใดอย่างหนึ่ง กับคนที่เราเกลียดชังนี้ให้ได้ แม้เสียงที่ไม่ชอบใจจากคำพูดของใคร ก็เกิดอารมณ์แห่งความทุกข์ใจไม่สบายใจ จึงคิดหาวิธีที่จะแก้ไขเอาชนะให้ได้เช่นกัน
   
   ฉะนั้นอารมณ์ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ ใครๆ ย่อมเกิดมีด้วยกันทั้งนั้น ใครจะเกิดมีอารมณ์ประเภทไหนนั้นขึ้นอยู่กับการสัมผัสอารมณ์นี้มีสามลักษณะ
   
   ๑.     อารมณ์ที่มีความชอบใจ
   
   ๒.    อารมณ์ที่ไม่ชอบใจ
   
   ๓.    อารมณ์เฉยๆ
   
   อารมณ์เฉยนี้จะไม่ก่อให้เกิดการฟุ้งไปเป็นสังขาร จะเป็นอารมณ์เงียบอยู่ตามปกติ ไม่มีกิริยาในการแสดงออกในทางความคิดปรุงแต่งอะไร ไม่สนใจในสิ่งที่มาสัมผัสนั้นๆ
   
   ส่วนอารมณ์ที่ชอบใจ และอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ ทั้งสองนี้จะก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นที่ใจ จึงได้เกิดความฟุ้งไปตามอารมณ์นั้นจนลืมตัว อารมณ์ที่ไม่ชอบใจจึงคิดไปในทางอิจฉาตาร้อน คิดฟุ้งปรุงแต่งไปในทางอิจฉา ริษยา เบียดเบียนเพื่อเอาชนะคนอื่นด้วยความโกรธแค้น คิดฟุ้งไปในวิธีการทำ การพูดให้แก่คนอื่นได้รับความเสียหาย เพื่อทำลายชื่อเสียงเกียรติยศให้แก่คนอื่น เพื่อทำลายลาภ ยศ สรรเสริญ และความสุขแก่คนอื่นให้ลดน้อยลงหรือให้หมดไป
   
   ความคิดฟุ้งไปในลักษณะนี้เป็นความคิดของบุคคลที่ไม่มีคุณธรรมประจำใจ เป็นความคิดของอันธพาลสันดานชั่ว เป็นความคิดของผู้เห็นแก่ตัวที่มีอัตตาสูง เป็นความคิดที่จะทำให้เกิดความแตกแยกสามัคคี ไม่มีเมตตาธรรม ไม่มีกรุณาธรรม ไม่มีมุทิตาธรรม และไม่มีอุเบกขาธรรมประจำใจ จะทำให้คนอื่นเดือดร้อนด้วยการทำการพูดนี้มากมาย ไม่มีหิริความละอายใจ ไม่มีสติปัญญาความสำนึกตัวได้เลย ว่าการทำการพูดอย่างนี้จะทำให้คนอื่นเป็นทุกข์เดือดร้อนอย่างไร หาได้คิดไม่ มีแต่คิดไปฟุ้งไปเพื่อทำลายคนอื่นอยู่ตลอดเวลา หรือผู้ชอบคิดฟุ้งไปในลักษณะการกล่าวขวัญนินทาว่าร้ายแก่คนอื่นก็เช่นกัน จึงเรียกว่าคนนิสัยเสียสันดานชั่วลืมตัวเอง ถ้าไม่ชอบใจกับคนใดคนหนึ่งด้วยวิธีใด ใจก็จะผูกโกรธเอาไว้แล้วคิดหาวิธีที่จะทำลายคนนั้นให้ได้ นี้การฟุ้งไปในอนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่ชอบใจ มูลเหตุที่จะให้เกิดอารมณ์ในลักษณะนี้มีอยู่มาก และจะทำให้เกิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดฝังใจได้อย่างสนิททีเดียว

7
อัตโนประวัติ

หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ
[/size]


วัดป่าบ้านค้อ  ต. เขือน้ำ  อ. บ้านผือ  จ. อุดรธานี
โทร (๐๘๒) ๒๔๕–๔๘๘
ชื่อหนังสือ   อัตโนประวัติพระอาจารย์ทูล ขิปฺปปัญฺโญ
   ISBN 974-8414-16-7
ผู้จัดทำ   คณะศิษย์พิมพ์ถวาย
   พิมพ์ครั้งที่ ๒ จำนวน ๗,๐๐๐ เล่ม
   พิมพ์ครั้งที่ ๓ จำนวน ๕,๐๐๐ เล่ม  มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๒


คำนำของผู้จัดพิมพ์

หนังสือชีวประวัติของหลวงพ่อทูล ขิปฺปปัญฺโญ ที่พวกเราทั้งหลายได้อ่านอยู่ในขณะนี้ มีขึ้นก็เนื่องจากคณะศิษย์หลายท่านได้ปรึกษากันว่า  หลวงพ่อเป็นพระที่มีศิษย์ที่ให้ความเคารพเชื่อถือเป็นจำนวนมาก  เมื่อหากได้อ่านหนังสือธรรมะของหลวงพ่อแล้ว คิดว่าทุกท่านพอจะเข้าใจดี  และมีหนังสือธรรมะของหลวงพ่อที่แพร่หลายอยู่ในขณะนี้ คือ หนังสือคู่มือชาวพุทธ  แนวทางปฏิบัติภาวนา  ทวนกระแส  ตัดกระแส  ข้ามกระแส  พ้นกระแสโลก และ พบกระแสธรรม  หนังสือทั้งหมดนี้มีความเหมาะสมในการปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง  อ่านแล้วเข้าใจง่าย  มีเหตุผลเป็นที่น่าเชื่อถือ  เพราะเป็นอุบายแนวทางปฏิบัติโดยตรง

หลวงพ่อทูลเป็นพระที่ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก  จึงได้รับเกียรติบัตรยกย่องเชิดชูจากคณะกรรมการอำนวยการในงานส่งเสริมพระพุทธศาสนาในพระสังฆราชูปถัมภ์  และยังได้รับโล่เกียรติคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๓  ทั้งยังได้เผยแผ่ธรรมปฏิบัติไปสู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งภายในและนอกประเทศ  เผยแผ่ธรรมะในรายการแผ่นดินธรรม  และยังได้ออกแสดงธรรมในสถานที่ต่าง ๆ ของทุกภาคทั่วประเทศไทย  ทั้งเป็นผู้ตอบปัญหาข้องใจให้แก่ผู้ปฏิบัติทั้งหลายได้อย่างกระจ่างชัดเจน หายสงสัยในข้อข้องใจนั้น ๆ  บางครั้ง ยังมีผู้ถามประวัติของหลวงพ่ออยู่บ้าง  แต่หลวงพ่อได้อธิบายให้ฟังเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  คณะศิษย์อยากทราบประวัติของหลวงพ่อทั้งหมด เพื่อเป็นที่ระลึกตลอดไปจนชั่วกุลบุตรลูกหลาน และตลอดไปชั่วกาลนาน

คณะศิษย์จึงได้ปรึกษากันว่า  สมควรกราบนมัสการขอร้องให้หลวงพ่อเขียนประวัติของหลวงพ่อเอาไว้  เมื่อได้ตกลงกันแล้ว จึงได้กราบนมัสการเพื่อให้หลวงพ่อทราบวัตถุประสงค์  ในครั้งแรกหลวงพ่อก็ไม่อยากเขียนประวัติส่วนตัวให้ใคร ๆ ได้รู้เลย  แต่ศิษย์ก็พยายามอธิบายเหตุผลให้
หลวงพ่อฟังว่า  ศิษย์ของหลวงพ่อที่มีความตั้งใจภาวนาปฏิบัติอย่างจริงจังยังมีอยู่  ถ้าได้รู้ปฏิปทาในการปฏิบัติของหลวงพ่ออีกแรงหนึ่ง  ก็จะช่วยเป็นกำลังใจแก่ศิษย์ได้เป็นอย่างดี  ในที่สุดหลวงพ่อก็ให้ความเมตตาเขียนให้  แต่ยังมีข้อแม้อยู่ว่า ยังไม่ให้พิมพ์ประวัติของหลวงพ่อในช่วงนี้  จึงให้เหตุผลไปว่า เมื่อหากหลวงพ่อมีอายุถึงปูนนั้น  ศิษย์หลวงพ่อซึ่งมีอายุมากแล้วก็จะตายไปเสียก่อน  จึงหมดโอกาสที่จะได้รู้ประวัติของหลวงพ่ออย่างแน่นอน  แม้ศิษย์ที่ยังมีอายุน้อยอยู่
ก็ตาม  เมื่อชีวิตไม่แน่นอนรีบตายไปเสีย ก็หมดโอกาสเช่นกัน

เมื่อหลวงพ่อฟังเหตุผลอย่างนี้แล้ว  จึงได้พูดขึ้นว่า “การเขียนประวัติของหลวงพ่อนั้นเขียนได้  แต่ก็จะเป็นทั้งคุณและโทษ  ส่วนคุณนั้นก็พอจะรู้กัน  ส่วนโทษนั้นจะทำให้ผู้อ่านมีการถดถอยในการปฏิบัติธรรมลงไป  ความตั้งใจว่าอยากรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมในชาตินี้ก็จะหมดไป  เพราะจะมาเข้าใจว่า บารมีของตัวเองและบารมีของหลวงพ่อทิ้งห่างกัน  ในที่สุดก็จะภาวนาแบบค่อยเป็นค่อยไป  ไม่ทุ่มเทความเพียรอย่างเต็มที่  ก็จะกลายเป็นผู้สร้างบารมีเพื่ออนาคตไปเสีย  เหตุนี้เอง หลวงพ่อจึงไม่อยากเขียนประวัติให้ใคร ๆ ได้รู้  ถ้าจะเขียนก็จะเขียนเพียงบางส่วนเท่านั้น  ถ้าจะเขียนทั้งหมดก็จะยาวเกินไป  แต่ก็จะมีอุบายธรรมะแทรกเข้าไปให้มากที่สุดที่จะมากได้”  ในที่สุดหลวงพ่อก็ได้ให้ความเมตตาเขียนประวัติตามที่ศิษย์ขอร้อง  แต่หลวงพ่อก็ได้สั่งเอาไว้ว่า “อย่าไปพิมพ์มาก  ให้พิมพ์พอคณะศิษย์กลุ่มเล็ก ๆ ได้อ่านกันเท่านั้น”

คณะศิษย์ทั้งหลาย เมื่อได้อ่านประวัติของหลวงพ่อแล้ว  ขอได้ตั้งจิตอธิษฐาน  ขอคุณพระรัตนตรัยช่วยดลบันดาลให้หลวงพ่อปราศจากโรคภัย มีอายุยืนนาน เพื่อเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้แก่พวกเราทั้งหลายด้วยเทอญ

ศิษย์ผู้จัดพิมพ์

8
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท มรรควรรคที่ ๒๐


๕. เรื่องพระโปฐิลเถระ [๒๐๘]


ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระเถระนามว่าโปฐิละ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "โยคา เว" เป็นต้น.

รู้มากแต่เอาตัวไม่รอด
         
ดังได้สดับมา พระโปฐิละนั้นเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎกในศาสนาของพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ บอกธรรมแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป. พระศาสดาทรงดำริว่า "ภิกษุนี้ ย่อมไม่มีแม้ความคิดว่า "เราจักทำการสลัดออกจากทุกข์แก่ตน เราจักยังเธอให้สังเวช."

จำเดิมแต่นั้นมา พระองค์ย่อมตรัสกะพระเถระนั้น ในเวลาที่พระเถระมาสู่ที่บำรุงของพระองค์ว่า "มาเถิด คุณใบลานเปล่า, นั่งเถิด คุณใบลานเปล่า, ไปเถิด คุณใบลานเปล่า แม้ในเวลาที่พระเถระลุกไป ก็ตรัสว่า "คุณใบลานเปล่าไปแล้ว."

พระโปฐิละนั้นคิดว่า "เราย่อมทรงไว้ซึ่งพระไตรปิฎกพร้อมทั้งอรรถกถา บอกธรรมแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ถึง ๑๘ คณะใหญ่ ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น พระศาสดายังตรัสเรียกเราเนืองๆ ว่า "คุณใบลานเปล่า" พระศาสดาตรัสเรียกเราอย่างนี้ เพราะความไม่มีคุณวิเศษ มีฌานเป็นต้นแน่แท้."

ท่านมีความสังเวชเกิดขึ้นแล้ว จึงคิดว่า "บัดนี้ เราจักเข้าไปสู่ป่าแล้วทำสมณธรรม" จัดแจงบาตรและจีวรเองทีเดียว ได้ออกไปพร้อมด้วยภิกษุผู้เรียนธรรม แล้วออกไปภายหลังภิกษุทั้งหมดในเวลาใกล้รุ่ง. พวกภิกษุนั่งสาธยายอยู่ในบริเวณ ไม่ได้กำหนดท่านว่า "อาจารย์." พระเถระไปสิ้น ๑๒๐ โยชน์แล้ว, เข้าไปหาภิกษุ ๓๐ รูป ผู้อยู่ในอาวาสราวป่าแห่งหนึ่ง ไหว้พระสังฆเถระแล้ว กล่าวว่า "ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของกระผม."

พระสังฆเถระ. "ผู้มีอายุ ท่านเป็นพระธรรมกถึก สิ่งอะไรชื่อว่าอันพวกเราพึงทราบได้ ก็เพราะอาศัยท่าน, เหตุไฉน ท่านจึงพูดอย่างนี้?"

พระโปฐิละ. ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงอย่าทำอย่างนี้ ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของกระผม.

วิธีขจัดมานะของพระโปฐิละ

ก็พระเถระเหล่านั้นทั้งหมด ล้วนเป็นพระขีณาสพทั้งนั้น. ลำดับนั้น พระมหาเถระส่งพระโปฐิละนั้นไปสู่สำนักพระอนุเถระ ด้วยคิดว่า "ภิกษุนี้มีมานะ เพราะอาศัยการเรียนแท้." แม้พระอนุเถระนั้นก็กล่าวกะพระโปฐิละนั้น อย่างนั้นเหมือนกัน. ถึงพระเถระทั้งหมด เมื่อส่งท่านไปโดยทำนองนี้ ก็ส่งไปสู่สำนักของสามเณรผู้มีอายุ ๗ ขวบผู้ใหม่กว่าสามเณรทั้งหมด ซึ่งนั่งทำกรรมคือการเย็บผ้าอยู่ในที่พักกลางวัน. พระเถระทั้งหลายนำมานะของท่านออกได้ด้วยอุบายอย่างนี้.

พระโปฐิละหมดมานะ

พระโปฐิละนั้นมีมานะอันพระเถระทั้งหลายนำออกแล้ว จึงประคองอัญชลีในสำนักของสามเณรแล้วกล่าวว่า "ท่านสัตบุรุษ ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของผม."

สามเณร. ตายจริง ท่านอาจารย์ ท่านพูดอะไรนั่น ท่านเป็นคนแก่ เป็นพหูสูต เหตุอะไรๆ พึงเป็นกิจอันผมควรรู้ในสำนักของท่านพระโปฐิละ. ท่านสัตบุรุษ ท่านอย่าทำอย่างนี้ ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของผมให้ได้.

สามเณร. ท่านขอรับ หากท่านจักเป็นผู้อดทนต่อโอวาทได้ไซร้ ผมจักเป็นที่พึ่งของท่าน.

พระโปฐิละ. ผมเป็นได้ ท่านสัตบุรุษ, เมื่อท่านกล่าวว่า "จงเข้าไปสู่ไฟ" ผมจักเข้าไปแม้สู่ไฟได้ทีเดียว.

พระโปฐิละปฏิบัติตามคำสั่งสอนของสามเณร


ลำดับนั้น สามเณรจึงแสดงสระๆ หนึ่งในที่ไม่ไกล แล้วกล่าวกะท่านว่า "ท่านขอรับ ท่านนุ่งห่มตามเดิมนั่นแหละ จงลงไปสู่สระนี้."

จริงอยู่ สามเณรนั้น แม้รู้ความที่จีวรสองชั้นซึ่งมีราคามาก อันพระเถระนั้นนุ่งห่มแล้ว เมื่อจะทดลองว่า "พระเถระจักเป็นผู้อดทนต่อโอวาทได้หรือไม่" จึงกล่าวอย่างนั้น.

แม้พระเถระก็ลงไปด้วยคำๆ เดียวเท่านั้น.

ลำดับนั้น ในเวลาที่ชายจีวรเปียก สามเณรจึงกล่าวกะท่านว่า "มาเถิด ท่านขอรับ" แล้วกล่าวกะท่านผู้มายืนอยู่ด้วยคำๆ เดียวเท่านั้นว่า "ท่านผู้เจริญ ในจอมปลวกแห่งหนึ่ง มีช่องอยู่ ๖ ช่อง, ในช่องเหล่านั้น เหี้ยเข้าไปภายในโดยช่องๆ หนึ่ง บุคคลประสงค์จะจับมัน จึงอุดช่องทั้ง ๕ นอกนี้ ทำลายช่องที่ ๖ แล้ว จึงจับเอาโดยช่องที่มันเข้าไปนั่นเอง, บรรดาทวารทั้งหก แม้ท่านจงปิดทวารทั้ง ๕ อย่างนั้นแล้ว จงเริ่มตั้งกรรม๑- นี้ไว้ในมโนทวาร."

ด้วยนัยมีประมาณเท่านี้ ความแจ่มแจ้งได้มีแก่ภิกษุผู้เป็นพหูสูต ดุจการลุกโพลงขึ้นแห่งดวงประทีปฉะนั้น.

พระโปฐิละนั้นกล่าวว่า "ท่านสัตบุรุษ คำมีประมาณเท่านี้แหละพอละ" แล้วจึงหยั่งลงในกรชกาย๒- ปรารภสมณธรรม.

ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งปัญญา

พระศาสดาประทับนั่งในที่สุดประมาณ ๑๒๐ โยชน์เทียว ทอดพระเนตรดูภิกษุนั้นแล้วดำริว่า "ภิกษุนั้นเป็นผู้มีปัญญา (กว้างขวาง) ดุจแผ่นดินด้วยประการใดแล, การที่เธอตั้งตนไว้ด้วยประการนั้นนั่นแล ย่อมสมควร." แล้วทรงเปล่งพระรัศมีไป ประหนึ่งตรัสอยู่กับภิกษุนั้น

ตรัสพระคาถานี้ว่า :-

๕.

โยคา เว ชายตี ภูริ   
   

อโยคา ภูริสงฺขโย

เอตํ เทฺวธา ปถํ ญตฺวา   

ภวาย วิภวาย จ

ตถตฺตานํ นิเวเสยฺย   
   
ยถา ภูริ ปวฑฺฒติ.


ปัญญาย่อมเกิดเพราะการประกอบแล, ความสิ้นไปแห่ง

ปัญญาเพราะการไม่ประกอบ, บัณฑิตรู้ทาง ๒ แพร่งแห่งความ

เจริญและความเสื่อมนั่นแล้ว พึงตั้งตนไว้โดยประการที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้.

แก้อรรถ ;

           บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โยคา ความว่า เพราะการกระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคายในอารมณ์ ๓๘.

             คำว่า "ภูริ" นั่น เป็นชื่อแห่งปัญญาอันกว้างขวาง เสมอด้วยแผ่นดิน. ความพินาศ ชื่อว่า ความสิ้นไป.

             สองบทว่า เอตํ เทวฺธา ปถํ คือ ซึ่งการประกอบและการไม่ประกอบนั่น.

             บาทพระคาถาว่า ภวาย วิภวาย จ คือ แห่งความเจริญและความไม่เจริญ.

             บทว่า ตถตฺตานํ ความว่า บัณฑิตพึงตั้งตนไว้ โดยประการที่ปัญญา กล่าวคือภูรินี้จะเจริญขึ้นได้.

             ในกาลจบพระคาถา พระโปฐิลเถระตั้งอยู่ในพระอรหัตแล้ว ดังนี้. เรื่องพระโปฐิลเถระ   
             

             จบ.             

------------------------

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท มรรควรรคที่ ๒๐

____________________________
๑-๑. คำว่า กรรม ในที่นี้ ได้แก่ บริกรรม หรือกัมมัฏฐาน.

๒-๒. แปลว่า ในกายบังเกิดด้วยธุลี มีในสรีระ.

http://www.84000.org

9

ศิลาทับหญ้า อัตตาข่มกิเลส
   
หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ


เรื่องใจที่ละเอียดนั้น คือ ละเอียดในความคิดฝักใฝ่ในฝ่ายต่ำ ถ้ายินดีอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ยินดีอยู่ในส่วนลึกของหัวใจ ไม่แสดงออกมาภายนอก คือ กายและวาจาอันเป็นส่วนหยาบ ๆ หรือถ้าจะให้รู้ความคิดที่ละเอียดอันเป็นของฝ่ายต่ำจริง ๆ แล้วนั้น จะรู้จักในขณะที่มีความสงบในสมาธิส่วนลึก เช่น ผู้ชำนาญในการเข้าฌาน ผู้ชำนาญในการเข้าสมาบัติ การเข้าฌาน การเข้าสมาบัติ นี้เอง จะมีความสุขกายและมีความสุขใจเป็นที่อยู่ประจำวัน

เมื่อความสุขภายในใจมีกำลังอยู่แล้ว ก็สามารถจะข่มกิเลสตัณหาไว้ได้ จะเหมือนกันกับศิลาทับหญ้านั่นเอง ขณะมีศิลาทับอยู่ หญ้าก็ยังไม่เกิดขึ้น เมื่อศิลาเคลื่อนที่เมื่อไร หญ้าก็เกิดในที่นั้น ๆ

ฉะนั้น ผู้หวังความสงบในสมาธิ หวังความสงบในฌาน หวังความสงบในสมาบัติ ก็เพื่อกลบความกำเริบของราคะตัณหานั้นไว้ ใจก็เพลินอยู่ในความสุขนั้น ๆ ทั้งวันทั้งคืน นานเข้าก็จะเกิดลืมตัว ว่าราคะ ตัณหา อวิชชา ไม่มีในใจ ใจมีความสุข จึงไม่อยากนึกคิดอะไร ใจไม่อยากคิด ปัญญามันก็จะมืดมิดคิดอะไรไม่เป็น เหมือนกันกับร่างกายเราไม่มีโรค ก็ไม่คิดหายา

ใจมีความสงบแต่ไม่มีปัญญาที่จะคิด นี่ก็คือความละเอียดของใจ ทำให้กิเลสตัณหาฝังอยู่ในส่วนลึกของใจโดยไม่รู้ตัว หรือเหมือนกันกับเสือหรืองูที่อยู่ในถ้ำลึก มันจะออกมาหาสัตว์กินก็เมื่อเราเผลอตัว นี้ฉันใด ใจเมื่อเสื่อมจากฌานสมาบัติเมื่อไร กิเลส ตัณหา มันก็จะออกมาปรากฏตัวให้โลกได้รู้ และจับเอารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มาเป็นอาหารเมื่อนั้น


ฉะนั้น เมื่อใจเราละเอียด เราก็ต้องใช้ปัญญาอย่างละเอียดเข้าขุดค้นกันว่า ขณะนี้ กิเลส ตัณหา ได้หลบตัวอยู่ที่ไหน ก็ต้องใช้สติปัญญากับผู้รู้ คอยสังเกต เพื่อสำรวจตรวจตราลงไปหาใจอย่างละเอียด ความสงบในฌานในสมาบัติ นั้นเป็นเครื่องปกปิดกิเลสตัณหา ก็ต้องรื้อถอนชั่วคราวเหมือนกันกับผ้าปิดแผล เมื่อเราจะล้างแผล ก็ต้องเปิดผ้าฉันนั้น

เมื่อปัญญาจะเข้าดูความจริงของกิเลส เราก็ถอนออกจากความสงบนั้นออกมา เพื่อจะได้ใช้ปัญญาพิจารณาต่อไป ให้เหมือนกันกับเหี้ยที่มีรูทั้งหกอยู่ในจอมปลวก เมื่อเราต้องการจับเหี้ย เราก็ต้องปิดเสียสักห้ารู ส่วนรูที่หกนั้นก็ปล่อยไว้ สำหรับให้เหี้ยได้โผล่หัวและออกมาหากินตามความอยากของมัน ถ้าเหี้ยโผล่หัวออกมาได้จังหวะแล้ว เราก็กำคอเหี้ยให้แน่น เอาเชือกผูกลากออกจากรู แล้วก็ปิดรูให้แน่นเสีย

ส่วนเหี้ยก็จะไม่มีโอกาสได้เข้าไปในรูอีกต่อไป นี้ฉันใด เมื่อใจมีความละเอียด ก็ต้องหาวิธีที่จะดักจับกิเลสตัณหาภายในให้ได้ โดยใช้วิธีเอาสติปัญญาคอยจดจ้องอยู่กับใจ ถ้าเราไม่รู้ใจเห็นใจ เราก็ต้องเอาสติปัญญามาจดจ้องอยู่ในอารมณ์ของใจ อารมณ์ของใจเป็นอย่างไร ใจก็เป็นอย่างนั้น เมื่อรู้อารมณ์ของใจแล้ว ก็สืบสาวขยับเข้าหาใจตัวจริง คำว่าใจ ก็คือสภาพที่รู้ หรือธาตุรู้นั่นเอง สภาพรู้หรือธาตุรู้นี้เองแหละ เป็นต้นตอที่นักภาวนาต้องการรู้ต้องการเห็น จะว่า กิเลส ตัณหา อวิชชา ก็เกิดจากตัวนี้


10
 

อวิชชารวมตัว ปกปิดจิตแท้ธรรมแท้
   

โดยหลวงตามหาบัว
   

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2509
   

( จากหนังสือจิตเป็นของแปลกประหลาดและน่าอัศจรรย์ )

   
พระธรรมเทศนากัณฑ์นี้ แสดงในเชิงตอบปัญหาแก่พระเถระสำคัญมากองค์หนึ่งในสมัยปัจจุบัน มีเนื้อหาและข้อความดังนี้

   นี่คือเวลาเริ่มพิจารณาเข้าสู่จุดรวมของกิเลสวัฏฏ์ ซึ่งได้แก่อวิชชา ขณะที่พิจารณาก็ยังไม่ทราบว่าตัวเองพิจารณาอวิชชา เป็นแต่เพียงคิดว่า นี้มันอะไรนา เป็นข้อข้องใจสงสัยอยู่ตรงนี้ แล้วก็หยั่งจิตลงไปที่นั่น ทำความสนใจในจุดนั้น พิจารณาว่ามันเป็นยังไงไปยังไงมายังไง แต่ก็ไปถูกจุด ทั้งนี้เพราะเราไม่รู้ชื่อมันว่าอะไรเป็นอวิชชา
   
   อวิชชาที่แท้จริงกับชื่อมันผิดกันมาก เห็นแต่กระแสของมันกระจายไปทั่วโลก นั้นมันเป็นเพียงกิ่งก้าน เหมือนเราไปหาจับโจรผู้ร้าย ไปจับก็จะได้แต่สมุนของมันเท่านั้น จับคนไหนก็เป็นสมุนของมันๆไม่ทราบว่านายมันอยู่ที่ไหน มีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะไม่เคยเห็นหัวหน้ามันจับมากต่อมาก จับเข้าไปๆตีตะล่อมเข้าไปๆ ที่เรียกว่าล้อมโจร คือเจ้าหน้าที่มีจำนวนมากและก็มีกำลังมาก ต่างคนต่างอาศัยกันรวมกันเข้าก็มีกำลังมาก ล้อมรอบจุดโจรอาศัยอยู่จับคนนี้ มัดคนนั้นเข้าไปๆ
   
   เมื่อถูกถามตามธรรมดาโจรมันจะไม่บอกว่าใครเป็นนายของมันถ้าใครเป็นโจรก็มัดมันเข้าไปจน หมดจนไม่ให้มีเหลือซักคนในวงล้อมนั้น คนสุดท้ายนั้นน่ะเป็นนายของโจร คนสุดท้ายมันจะอยู่ในที่สำคัญ คือสมุนของโจรจะต้องล้อมรอบขอบชิดรักษาไว้อย่างดีทีเดียว ไม่ให้พบหัวหน้าของมันอย่างง่ายดายถูกจับเข้าไปเป็นลำดับๆ จนถึงอุโมงค์ที่หัวหน้าโจรหลบซ่อนก็ฆ่าหมดไม่มีเหลือในที่นั้นแล้วมันก็ทราบ ชัดกันล่ะที่นี่ว่าหัวหน้าโจรตัวฉลาดได้ถูกฆ่าให้สูญพันธุ์ไปเสียแล้ว
   
   อันนี้เป็นแต่เพียงรูปเปรียบ คือจิตที่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งใด มันก็เป็นแขนงของความหลง ไม่ว่าจะหลงทางดีทางชั่ว มันเป็นเรื่องของอวิชชาและกิ่งก้านของอวิชชาทั้งนั้น แต่ตัวอวิชชาจริงๆมันไม่มี
   
   เพราะฉะนั้น อุบายวิธีพิจารณาต่างๆถ้าจะเทียบอุปมาก็เหมือนอย่างเราวิดน้ำเพื่อจะเอาปลา ถ้าน้ำมีมาก ปลาจะมีอยู่จำนวนมากน้อยเพียงไรก็ไม่ทราบ วิดน้ำออกจนน้ำแห้งไปเป็นลำดับๆปลาก็รวมตัวเข้าไปๆตัวไหนอยู่ที่ไหนก็วิ่งลง ในน้ำๆ น้ำก็ถูกวิดออกเรื่อยๆปลาก็รวมตัวเข้าไปตัวไหนวิ่งไปไหนก็มองเห็น เพราะน้ำแห้งลงไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายเมื่อน้ำแห้งแล้ว ปลาก็ไม่มีที่หลบซ่อนก็จับตัวปลาได้ขึ้นชื่อว่ารูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสกับอาการของจิตที่คละเคล้ากัน มันก็เหมือนกับน้ำซึ่งเป็นที่อาศัยของปลา
   
   การพิจารณาสิ่งเหล่านี้ก็ไม่หมายจะเอาสิ่งเหล่านี้ แต่จะฆ่ากิเลสต่างหากเหมือนกับคนวิดน้ำไม่หมายจะเอาน้ำ แต่หมายจะเอาปลาต่างหาก การพิจารณา ก็ไม่หมายจะเอาสิ่งเหล่านี้ แต่ให้รู้สิ่งเหล่านี้เป็นลำดับๆ พอรู้ไปถึงไหนจิตก็หายกังวล รู้ทั้งสิ่งที่ไปเกี่ยวข้องรู้ทั้งตัวเองผู้ไปเกี่ยวข้องว่าเป็นผู้ผิด เป็นความเห็นผิดของตัว จึงไปหลงรักหลงชังในสิ่งเหล่านั้นทีนี้วงแห่งการพิจารณาก็แคบเข้ามาๆ เหมือนกับน้ำแห้งลงไปๆ จะพิจารณาในธาตุในขันธ์อะไรมันก็เหมือนกับสิ่งทั่วไปภายนอก มันไม่มีอะไรแปลกกัน
   
   ถ้าเป็นด้านวัตถุพูดถึงเรื่องธาตุก็เป็นธาตุอันเดียวกัน มันมีแปลกอยู่ที่อาการของจิตแสดงตัวออก แต่เราไม่รู้ก็ไปหมาย อันนี้มันก็ยังเป็นกิ่งก้านของอวิชชาอยู่ แต่มันจะซึมซาบเข้าไปหาส่วนใหญ่ พิจารณาเห็นสิ่งที่มาเกี่ยวข้องชัดเท่าไร ก็ยิ่งเห็นตัวออกไปเกี่ยวข้องชัดขึ้นทุกที เหมือนกับน้ำแห้งลงไปเท่าไรก็ยิ่งเห็นตัวปลาชัดขึ้นทุกทีๆ

   การพิจารณาเห็นสภาพทั้งหลายทั้งภายนอกกาย ทั้งภายในกาย ทั้งในเจตสิกธรรมของตัวชัดขึ้นเท่าไร มันก็เห็นจุดที่อยู่ที่อาศัยของ ตัวการสำคัญชัดขึ้นๆ เมื่อพิจารณาตะล่อมเข้าไปความรู้ของจิตมันก็แคบเข้าไป ความกังวลของใจก็น้อยเข้าไป กระแสของใจที่ส่งออกไปก็แคบพอกระเพื่อมตัวออกไปเกี่ยวกับสิ่งใดก็พิจารณา เกี่ยวกับสิ่งนั้นด้วย พิจารณาความกระเพื่อมของจิตที่ออกไปแสดงตัวด้วย ก็เห็นทั้งสองเงื่อน รู้เหตุรู้ผลกันทั้งสองด้าน คือด้านที่ไปเกี่ยวข้องสิ่งที่ถูกเกี่ยวข้องหนึ่ง ผู้ไปเกี่ยวข้องหนึ่ง ปัญญาก็ขยับตัวเข้าไปเป็นลำดับๆ
   
   เมื่อเข้าไปถึงตัวอวิชชาจริงๆ โดยมากนักปฏิบัติถ้าไม่มีครูอาจารย์คอยแนะไว้ก่อนแล้ว จะต้องไปถือเอาตัวนั้นแลว่า เป็นตัวจริง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างได้พิจารณาเห็นชัดภายในใจแล้วว่าได้รู้เท่าและปล่อยวาง ไปหมดไม่มีสิ่งใดเหลือ แต่ผู้ที่รู้สิ่งทั้งหลาย นั้นคืออะไรนั่น ทีนี้ก็ไปสงวนอันนั้นไว้ นี่แลที่ว่าอวิชชารวมตัวแล้ว แต่กลับมาเป็นตัวขึ้นโดยไม่รู้สึก จิตก็มาหลงอยู่นั้นที่ว่าอวิชชาก็คือหลงตัวเองนี่แหละ ส่วนที่หลงสิ่งภายนอกนั้นยังเป็นกิ่งก้าน ไม่ใช่เป็นเรื่องของอวิชชาอันแท้จริงการมาหลงอันนี้แล มาหลงผู้ที่รู้สิ่งทั้งหลายนี้แล ผู้นี้เป็นอะไรเลยลืมวิพากษ์พิจารณาเสียเพราะจิตเมื่อมีวงแคบเข้ามาแล้วจะ ต้องรวมจุดตัวเอง จุดของจิตที่ปรากฏตัวอยู่เวลานั้นจะเป็นจิตที่ผ่องใส มีความยิ้มแย้มแจ่มใส มีความองอาจกล้าหาญ ความสุขก็รู้สึกว่าจะรวมตัวอยู่ที่นั่นหมด สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดมันเป็นผลของอะไร ถ้าจะพูดว่าเป็นผลก็ยอมรับเป็นผล จะพูดว่าเป็นผลของปฏิปทาเครื่องดำเนินก็ถูกถ้าหากเราไม่หลงอันนี้นะ ถ้ายังหลงอยู่มันก็ยังเป็นสมุทัยนี่ละจุดใหญ่ของสมุทัย

   แต่ถ้านักปฏิบัติผู้มีความสนใจพิจารณาในสิ่งที่เกี่ยวข้องอยู่เสมอแล้วไม่มอง ข้ามไปยังไงก็ทนไม่ได้ ต้องสนใจเข้าพิจารณาจุดนั้นเพราะทุกสิ่งทุกอย่างเราก็เคยพิจารณาและเคยรู้ เรื่องมาแล้วใจก็ไม่สัมผัส จะแยกจิตออกไปพิจารณาอะไรมันก็ไม่สัมผัส เพราะพอตัวในสิ่งนั้นๆแล้วอาการที่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นจากนั้น จิตที่ปรุงขึ้นมามันก็ปรุงขึ้นจากนั้น สุขที่ปรากฏขึ้นก็ปรากฏอยู่ที่นั่น ความสุขที่ปรากฏขึ้นมามันก็มีอาการเปลี่ยนแปลงให้เห็นซึ่งเป็นเหตุให้ พิจารณาอีกเพราะในขั้นนี้เป็นขั้นที่ใช้ความสังเกตมาก เมื่อสังเกตความสุขมันก็ไม่แน่นอน เพราะความสุขที่ผลิตจากอวิชชามันเป็นสมมุติ บางทีก็มีอาการเฉาๆบ้างเล็กๆน้อยๆ พอให้ทราบว่ามันแสดงอาการไม่สม่ำเสมอ มันค่อยเปลี่ยนตัวเองอยู่อย่างนั้นตามขั้นแห่งธรรมที่ละเอียด นี่เป็นจุดที่จะนอนใจตายใจและยอมเชื่อสำหรับผู้ที่ปฏิบัติด้วยความเข้มแข็ง ด้วยความสนใจอย่างยิ่งแต่จะมานอนใจในจุดนี้ ติดในจุดนี้ หากไม่มีผู้อธิบายให้ทราบไว้ล่วงหน้าก่อน

   ถึงจะนอนใจก็ทนที่จะทราบไม่ได้เหมือนกันถ้าใช้ความสนใจ เพราะมีเท่านั้นเป็นสิ่งที่ดูดดื่มของใจ เป็นเหตุให้ดูดดื่ม เป็นเหตุให้พอใจในสิ่งที่ปรากฏนั้น เท่าที่เคยพิจารณามาเป็นอย่างนั้นจนไม่ทราบว่าอะไรเป็นอวิชชา ก็เลยเข้าใจว่าอันนี้แหละที่จะเป็นนิพพาน อันสว่างกระจ่างแจ้งอยู่ตลอดเวลานี้แล คำว่าตลอดเวลาในที่นี้หมายถึงตลอดเวลาของผู้มีความเพียร มีการชำระซักฟอกกันอยู่เสมอ ไม่นอนใจติดอยู่กับสิ่งนั้นถ่ายเดียว ความสงวนก็มาก อะไรจะมาแตะต้องไม่ได้ระมัดระวังอย่างเต็มที่ พออะไรมาสัมผัสก็รีบแก้กันทันที

   แต่สิ่งที่รักสงวนนั้นตนหาได้ทราบไม่ว่าคืออะไร ทั้งที่ความรักความสงวนนั้นมันก็เป็นภาระของจิตอยู่โดยดี แต่ในเวลานั้นมันไม่ทราบจนกว่าสมควรแก่กาลที่ควรรู้แล้ว จึงเกิดความสนใจที่จะพิจารณาในจุดนี้ นี่มันคืออะไรนา ทุกสิ่งทุกอย่างเราก็เคยพิจารณามา แต่สิ่งนี้มัน คืออะไรนาที่นี่จิตก็จ่อเข้าไปตรงนั้น ปัญญาก็สอดส่องเข้าไป นี้มันคืออะไรแน่นะ อันนี้มันเป็นความจริงแล้วหรือยังไม่จริง อันนี้เป็นวิชชาหรือเป็นอวิชชา มันยังเป็นข้อกังขาสงสัยอยู่นั้นแหละ

   แต่อาศัยการพิจารณาทบทวนด้วยปัญญาอยู่ไม่หยุด เพราะเป็นสิ่งไม่เคยรู้ไม่เคยประสบมาก่อนว่าทำไมมันจึงรัก ทำไมมันจึงสงวน ถ้าหากว่าเป็นของจริงแล้วทำไมจะต้องรักสงวนกัน ทำไมจะต้องรักษากัน ความรักษานี่มันก็เป็นภาระ ถ้าอย่างนั้นอันนี้มันก็ต้องเป็นภัยอันหนึ่งสำหรับผู้สงวนรักษา หรือเป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่น่าไว้ใจทั้งๆที่ก็ไม่ทราบนะว่านั่นคืออะไร จะเป็นอวิชชาจริงหรือไม่เพราะเราไม่เคยเห็นนี่ว่าวิชชาที่แท้จริงกับอวิชชา มันต่างกันอย่างไร วิมุตติกับสมมุติมันต่างกันอย่างไร ปัญญาก็เริ่มสนใจพิจารณาละที่นี่

   อวิชชานี้เองที่ปกปิดจิตแท้ธรรมแท้เรื่อยมา จึงไม่เห็นความอัศจรรย์ในหลักธรรมชาติของจิตอันแท้จริง ผู้ปฏิบัติดำเนินมาถึงขั้นหลุมพรางตาจึงหลงยึดว่าเป็นของอัศจรรย์ไปเสีย จึงมารักสงวนหึงหวงไว้ มาเข้าใจว่าเป็นเราเป็นของเรา จิตเราสว่างไสว จิตเรามีความ องอาจกล้าหาญ จิตเราเป็นสุข จิตเรานี้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ธรรมชาติอันนี้ไม่รู้ตัวเอง ท่านเรียกว่าอวิชชาแท้ พอกลับมารู้อันนี้ๆก็สลายไป พออันนี้สลายไปแล้วก็เหมือนกับเปิดฝาหม้อขึ้นมานั่นเอง มีอะไรอยู่ในนั้นก็เห็นหมดอวิชชานี้เท่านั้นปิดไว้

   การปฏิบัติในศาสนานี้ถ้าปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์จริงๆ มันก็มีเคล็ดลับอยู่สองคือ ระหว่างอุปาทานของกายกับจิต กายกับจิตเป็นอุปาทานต่อกัน จะแยกจากกันนี้เป็นเคล็ดลับอันหนึ่งกับมาเคล็ดลับที่สองอันเป็นจุดสุดท้าย แห่งความสามารถของกระผมที่เป็นขึ้นมานอกจากนั้นก็ไม่มีอะไรที่น่าสงสัย

   กระผมเคยไปบำเพ็ญอยู่ที่วัดดอย ปัญหาเรื่องอวิชชานี้มันทำให้งงอยู่นานเหมือนกัน คือขณะนั้นจิตมันสว่างจนตัวเองเกิดความอัศจรรย์ในความสว่างไสว ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเป็นเหตุให้อัศจรรย์นั้นรู้สึกมารวมตัวอยู่ในจิตนั้น หมด จนเกิดความอัศจรรย์ในตัวเองว่า แหม จิตของเราทำไมถึงได้อัศจรรย์ถึงขนาดนี้นะ มองดูกายทั้งกายไม่เห็น มันเป็นอากาศธาตุเสียหมด ว่างไปหมด จิตมีความสว่างไสวอย่างเต็มที่

   แต่เดชะนะ พอเวลาเกิดความอัศจรรย์ตัวเองขึ้นมา ถึงกับอุทานในใจในเวลานั้น ด้วยความหลงไม่รู้สึกตัว ถ้าพูดถึงธรรมะส่วนละเอียดมันเป็นความหลงอันหนึ่ง มันอัศจรรย์ตัวเอง ทำไมจิตของเราถึงได้เป็นขนาดนี้ พอว่าอย่างนั้นก็มีธรรมะบันดาลขึ้นมา อันนี้ก็ไม่คาดไม่ ฝันเหมือนกันผุดขึ้นมาเหมือนมีคนพูดอยู่ภายในจิตนี้ แต่ไม่ใช่คนพูด ผุดขึ้นมาเป็นบทๆว่า " ถ้ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ไหน นั้นแลคือตัวภพ " ว่าอย่างนั้น

   ธรรมชาตินั้นมันเป็นจุดจริงๆจุดของความรู้ จุดของความสว่างนั้นมันมีจุดจริงๆดังอุบายผุดขึ้นมาบอก ทีนี้เราก็ไม่ได้คำนึงว่าอะไรมันเป็นจุด เลยงงไปเสียอีก แทนที่จะได้อุบายจากคำเตือนที่ผุดขึ้นนั้น เลยเอาปัญหานั้นมาขบคิด จนกว่าได้มาพิจารณาถึงตอนนี้ ตอนที่ว่าจุดนี้ ปัญหาอันนี้จึงยุติลงไป ถึงได้ย้อนกลับคืนไป รู้เรื่องที่ว่าถ้ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ไหน นั้นแลคือตัวภพได้อย่างชัดเจน ถึงได้ความ อ๋อ คำว่าจุดว่าต่อมหมายถึงอันนี้เอง แต่ก่อนไม่เข้าใจ มันเป็นจุดจริงๆจะอัศจรรย์แค่ไหนมันก็เป็นจุดของความอัศจรรย์ มันเป็นจุดให้รู้อยู่ พออันนั้นสลายลงไปแล้วมันไม่มีจุด เพราะจุดมันเป็นสมมติทั้งนั้น จะละเอียดแค่ไหนมันก็เป็นสมมติถึงได้เทศน์สอนหมู่เพื่อนเสมอว่า เมื่อเข้าไปถึงจุดนั้นแล้วอย่าไปสงวนอะไรทั้งนั้น ให้พิจารณาลงไป แม้ที่สุดจิตจะฉิบหายลงไปด้วย

   การพิจารณาจริงๆ ก็ขอให้ฉิบหายไป อะไรจะรับรู้ว่าบริสุทธิ์ก็ให้รับรู้ไป หรือจะฉิบหายไปหมดไม่มีอะไร จะรับรู้ว่าบริสุทธิ์ก็ขอให้รู้กัน อย่าได้สงวนอะไรไว้เลย ก็เพื่อกันไว้ว่ากลัวจะมาสงวนอันนี้เอง ถ้าหากไม่เตือนถึงขนาดนั้นแล้วอย่างไรก็ต้องติดขอให้รู้เท่านั้น

   อะไรๆ จะดับไปก็ดับไปเถิด แม้ที่สุดจิตดวงนี้จะดับไปด้วยอำนาจของการพิจารณาก็ขอให้ดับไป ไม่ต้องสงวนเอาไว้ เวลาพิจารณาต้องลงถึงขนาดนั้น แต่จะหนีความจริงไปไม่พ้น สิ่งใดที่เกิดสิ่งนั้นก็ต้องดับ สิ่งใดที่จริงเป็นหลักธรรมชาติของตัวเองแล้ว ก็จะไม่ดับ คือจิตที่บริสุทธิ์นั้นจะไม่ดับ ทุกสิ่งทุกอย่างดับไป ผู้ที่รู้ว่าดับนั้นไม่ดับอันนั้นดับไป อันนี้ดับไป ผู้ที่รู้ว่าสิ่งนั้นดับไปนั้นไม่ดับ จะว่าเอาไว้ก็ได้ ไม่เอาไว้ก็ได้ มันก็รู้อยู่อย่างนั้น ถ้าเราสงวนนี่ก็เท่ากับเราสงวนอวิชชาไว้นั่นเอง เพราะอวิชชามันละเอียด มันอยู่กับจิตถ้าสงวนจิตก็เท่ากับสงวนอวิชชา เอ้า ถ้าจิตจะฉิบหายไปด้วยกันก็ขอให้ฉิบหายไป อุปมาเหมือนกับฟันก็ฟันลงไปเลย ไม่ให้มีอะไรเหลือ ให้มันม้วนเสื่อลงไปด้วยกันหมด ขนาดนั้นพอดี

http://www.watpanonvivek.com/index.php?option=com_content&view=article&id=2446:2010-06-19-07-02-16&catid=39:2010-03-02-03-51-18

หน้า: [1] 2 3 4 5 6 7 8 9