Forum > แนวทางปฏิบัติธรรม

คู่มือดับทุกข์

(1/2) > >>

lek:
1. ถือศีล5ให้สมบูรณ์ด้วยการไม่ฆ่าสัตว์,ไม่ขโมย,ไม่ผิดกาม,ไม่โกหก,และไม่ดื่มหรือเสพติดของมึนเมา
2. แบ่งเวลาในแต่ละวันให้พอเหมาะพอดีแก่สภาพชีวิตของตัวเอง มีเวลาทำงานเพียงพอ มีเวลาพักผ่อน
    เพลิดเพลินในครอบครัวตามสมควร สำหรับผู้ที่เป็นฆาราวาสและมีเวลาฝึกสมาธิเพื่อทำจิตให้สงบ
3. ในการฝึกสมาธินั้น ให้นั่งอยู่อย่างสงบสำรวมอย่าเคลื่อนไหวอวัยวะมือเท้า จะนั่งกับพื้น
    เอาขาทับขาข้างใดข้างหนึ่งก็ดี หรือนั่งพับเพียบก็ได้ หรือนั่งบนเก้าอี้ตามสบายก็ได้ ไม่มีปัญหา
4. วิธีการฝึกสมาธินั้น ขอให้เข้าใจว่าท่านจะทำจิตให้สงบ ปราศจากความคิดนึกปรุงแต่งในเรื่องภายนอก
    ทุกอย่างชั่วระยะเวลาที่ทำสมาธินั้น ท่านจะไม่ปรารถนาที่จะพบเห็นรูป สี แสง เสียง สวรรค์ นรก
    เทวดาอินทร์พรหมที่ไหน เพราะสมาธิที่แท้จริงย่อมจะไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ในจิตใจ สมาธิที่แท้่
    จะมีแต่จิตที่สะอาดบริสุทธิ์และสงบเย็นเท่านั้น
5. พอเริ่มทำสมาธิโดยปกติแล้ว ให้หลับตาพอสบาย สำรวมจิตเข้านับที่ลมหายใจ ทั้งหายใจเข้าและหายใจออก
    โดยอาจจะนับอย่างนี้ว่า หายใจเข้านับ1 หายใจออกนับ2 อย่างนี้เรื่อยไป ทีแรกนับช้าๆ เพื่อให้สติต่อเนื่อง
    อยู่กับการนับนั้น แต่ต่อไปพอจิตสงบเข้าที่แล้ว มันก็จะหยุดนับของมันเอง
6. หรือบางที อาจจะกำหนดพุทโธก็ได้ หายใจเข้า "พุท" ออก "โธ" ก็ได้ ไม่ขัดแย้งกันเลย เพราะการนับอย่างนี้
    เป็นเพียงอุบายที่จะทำให้จิตหยุดคิดนึกปรุงแต่งเท่านั้น
7. การฝึกแรกๆ จะยังนับหรือกำหนดไม่ได้อย่างสม่ำเสมอ หรือตลอดรอดฝั่ง เพราะมันมักจะมีความคิดต่างๆ
    แทรกเข้ามาในจิต ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ช่างมัน ให้เข้าใจว่า ฝึกแรกๆมันก็เป็นอย่างนี้เอง แต่ให้ท่านตั้งนาฬิกาเอาไว้
    ตามเวลาที่พอใจ เริ่มแรกสัก 15 นาที ก็ได้ เฝ้านับหรือกำหนดจนครบเวลา จิตมันจะมีความคิดมากหรือน้อย
    ก็ช่างมัน ให้พยายามกำหนดนับตามวิธีการที่กล่าวมาจนครบเวลา ไม่นานนักจิตมันก็จะหยุดคิดและสงบได้เองของมัน

lek:
8. การฝึกสมาธินี้ให้พยายามทำทุกวันๆละ2-3ครั้ง ให้ทำครั้งละ15นาที แล้วจึงค่อยเพิ่มมากขึ้นๆถึงครั้งละ1ชม.ตามที่ปรารถนา
9. ครั้งกำหนดจิตด้วยการนับอย่างนั้นจนมีประสบการณ์พอสมควร ท่านก็จะรู้สึกว่าจิตนั้นสะอาด สงบ เย็นผ่องใส
    ไม่หงุดหงิด ไม่หลับไหล ไม่วิตก เป็นสัญลักษณ์แสดงว่า สมาธิกำลังเกิดขึ้นในจิต
10. เมื่อจิตสงบเย็น ไม่หงุดหงิดเช่นนั้นแล้ว อย่าหยุดนิ่งเฉยเสีย ให้ท่านเริ่มน้อมจิตเพื่อจะพิจารณาเรื่องราวต่างๆต่อไป
     ถ้ามีปัญหาชีวิตหรือปัญหาใดๆที่กำลังทำให้ท่านเป็นทุกข์กลัดกลุ้มอยู่ ก็จงน้อมจิตเข้าไปคิดนึกพิจารณาปัญหา
     ด้วยความสุขุมรอบคอบ  ด้วยความมีสติ
11. จงยกเอาปัญหานั้นขึ้นมาพิจารณาว่า ปัญหานี้มันมาจากไหน มันเกิดเพราะอะไร เพราะอะไรท่านจึงหนักใจกับมัน
      ทำอย่างไรที่ท่านจะสามารถแก้ไขมันได้ ทำอย่างไรท่านจึงจะเบาใจและไม่เป็นทุกข์กับมัน
12. การพิจารณาอยู่ด้วยจิตอันสงบนี้ การถามหาเหตุผลกับตัวเองอย่างนี้ จิตของท่านมันจะค่อยๆรู้เห็น และเกิด
      ความคิดนึกรู้สึกอันฉลาดขึ้นมาโดยธรรมชาติของมัน จิตจะสามารถเข้าใจต้นสายปลายเหตุของปัญหาต่างๆ
      ได้อย่างชัดเจนและถูกต้อง นักปฏิบัติจึงต้องพยายามพิจารณาปัญหาต่างๆอย่างนี้เรื่อยไป หลังจากทีจิตสงบแล้ว
13. ในกรณีที่ยังไม่มีปัญหาความทุกข์เกิดขึ้น หลังจากที่ทำจิตให้สงบเป็นสมาธิแล้วจงพยายามคิดหาหัวข้อธรรมะ
      หัวข้อใดข้อหนึ่งมาพิจารณาเช่น ยกเอาชีวิตของตัวเองมาพิจารณาว่า มันมีความมั่นคง จีรังยั่งยืนอะไร เพียงไหน
      ท่านจะได้อะไรจากชีวิตคือร่างกายและจิตใจนี้? ท่านจะอยู่ไปในโลกนี้นานเท่าไหร่? เมื่อท่านตายท่านจะได้อะไร?
      ให้พยายามถามตัวเองเช่นนี้อยู่เสมอ
14. หรือท่านอาจจะน้อมจิตไปสำรวจการกระทำของตัวเองเท่าที่ผ่านมา พิจารณาว่าท่านได้ทำประโยชน์อะไรให้แก่ส่วนรวมหรือไม่
      หรือท่านได้ทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง และตั้งใจไว้ว่า ต่อไปนี้ท่านจะไม่ทำสิ่งผิด จะไม่พูดสิ่งที่ไม่ดี ที่ทำให้คนอื่นเดือดร้่อน
      และไม่สบายใจ ท่านจะพูดจะทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่โลกนี้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อความบริสุทธิ์ของชีวิตท่านเอง

lek:
15. จงเข้าใจว่าเป้าหมายที่ถูกต้องของการฝึกสมาธินั้น  คือ ท่านจะฝึกสมาธิเพื่อให้จิตสงบจากอารมณ์ภายนอกชั่วระยะหนึ่ง
      เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิแล้ว จิตนั้นจะมีกำลัง และมั่งคง สภาวจิตเช่นนั้นเองที่มันจะมีความพร้อม ในการที่จะรู้ เข้าใจปัญหาต่างๆ
      แวดล้อมตัวท่านได้อย่างถูกต้องตามเป็นจริง
16. สรุปว่า ท่านจะฝึกสมาธิเพื่อเรียกกำลังจิตจากสมาธินั้นไปพัฒนาความคิดนึก หรือ ความรู้สึกของท่านให้ถูกต้อง
      ซึ่งความรู้สึกนึกคิดที่ถูกต้องนั้นแท้จริงแล้วก็คือ "ปัญญา" นั่นเอง
17. จงจำไว้ว่า ปัญหาอันยิ่งใหญ่ในชีวิตของท่านก็คือ ความทุกข์ ความกลัดกลุ้มใจ และความทุกข์นั้นก็จะไม่หมดไปได้
      เพราะการไหว้วอนบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ แต่มันจะหมดไปจากใจของท่านได้ ถ้าท่านมีปัญญารู้เท่าทันตามเป็นจริง
      ในสิ่งที่ทำให้ท่านเป็นทุกข์นั้น
18. ดังนั้น ในการฝึกสมาธิทุกครั้ง ท่านจึงต้องกำหนดจิตให้สงบเสียก่อน จากนั้น
      จึงเอาจิตที่สงบนั้นมาพิจารณาทบทวนปัญหาที่ทำให้ท่านเป็นทุกข์
19. ท่านจะต้องรู้ความจริงด้วยว่า ปัญหาหลายๆอย่างท่านไม่สามารถแก้ไขมันได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่
      แก้ไขไม่ได้ตามสภาวะแวดล้อมของมัน แต่หน้าที่ของท่านคือท่านจะต้องพยายามหาวิธีทำกับมันให้ดีที่สุด
      โดยคิดว่าท่านทำได้ดีที่สุดเพียงเท่านี้ ผลจะเกิดขึ้นอย่างไรก็ช่างมัน ปัญหามันจะหมดไปหรือไม่ก็ช่างมัน
       ท่านจะได้หรือเสียก็ช่างมัน ท่านทำหน้าที่ของท่านได้ดีที่สุดแล้วท่านก็ถูกต้องแล้ว เรื่องจะดีร้ายได้เสีย มันก็ไม่ใช่เรื่องของท่าน
20. ท่านจะต้องเปิดใจให้กว้าง ให้ยอมรับในทุกสิ่งที่เกิดขึ้นว่ามันเ็ป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามเหตุปัีจจัยของมัน เช่นเรื่องไม่ดี
      ไม่น่าปรารถนามันก็อาจจะเกิดขึ้นกับท่านได้ตามเหตุปัจจัยของมัน เพราะทุกสิ่งเป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอนอะไร
      บางทีมันก็ดี บางทีก็ไม่ดี มันเป็นอยู่อย่างนี้เอง เรื่องไม่ดีที่ไม่น่าปรารถนานั้น แท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่มีอยู่คู่โลกนี้มานานแล้ว
      ทุกคนที่เกิดมาในโลกก็ล้วนแต่จะต้องประสบกับมันทั้งนั้น แม้ว่าอาจจะมีลักษณะแตกต่างกันบ้างก็ตาม เรื่องไม่ดี
      ไม่น่าปรารถนาไม่ใช่เกิดมาจากอำนาจของเทวดาฟ้าดินที่ไหนเลย มันเป็นของธรรมดาที่มีอยู่้ในโลกนี้เอง
21. จงรู้จักธรรมะข้อที่ว่า"อนิจจตา" ซึ่งแปลว่า ความไม่เที่ยง สิ่งที่มีเหตุปัจจัย ปรุงแต่งทั้งหลายในโลกนี้ ล้วนแต่เป็นของ
      ไม่เที่ยงทั้งนั้น ความเปลี่ยนแปลงจากดีไปเป็นเลว เปลี่ยนจากควาามสมหวังเป็นผิดหวังฯลฯ ก็ล้วนแต่เป็นเพราะ
       ความเป็นของไม่เที่ยงของมันนั่นเอง ดังนั้น จงอย่าเป็นทุกข์เศร้าโศกไปกับเรื่องดีเรื่องร้ายได้เสีย ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง
       แต่จงรู้จักมันว่า มันเป็นอย่างนี้เอง มันไม่เที่ยงแท้่แน่นอนเลยสักสิ่งเดียว ถ้าท่านรู้อย่างนี้ด้วยความสงบของสมาธิ
       จิตของท่านก็จะไม่เป็นทุกข์เลย
22. จงรู้จักธรรมะข้อที่ว่า "ทุกขตา" ซึ่งแปลว่า ความเป็นทุกข์ จงจำไว้ว่าชีวิตของคนเรานั้น ล้วนแล้วแต่มีความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น
      ลักษณะของความทุกข์นั้นได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความเศร้าโศก อาลัย อาวรณ์ ความไม่สบายกาย
      ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ความที่ได้รับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ความพลัดพรากจากคนรักหรือของรัก และความผิดหวัง
      เหล่านี้แหละคือความทุกข์ที่คนทุกชาติทุกภาษาในโลกนี้กำลังประสบอยู่
23. จงรู้จักธรรมะข้อที่ว่า "อนัตตา" ซึ่งแปลว่า ความไม่ใช่ตัวตนเราหรือของเรา หรือความปราศจากแก่นสารที่ยั่งยืนถาวร
      ข้อที่ว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีตัวตนแก่นสารที่ถาวรนั้นหมายความว่า สิ่งเหล่านั้นมันจะมีอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง
      จะนานหรือไม่นานก็แล้วแต่เหตุการณ์ของมันเท่านั้นเอง มันไม่มีสิ่งใดจะคงอยู่ในโลกนี้ได้ตลอดไป ดังนั้น ตัวตนที่เป็น
      ของยั่งยืนถาวรของมัน จึงไม่มีซึ่งสิ่งเหล่านั้่น มันหมายรวมทั้งร่างกายและจิตใจของเราทุกคนด้วย

lek:
24. เมื่อทุกสิ่งเป็นของไม่เที่ยง ชวนแต่จะทำให้เราเป็นทุกข์กับมัน และไม่ใช่สิ่งที่เป็นแก่นสารถาวรเช่นนั้นแล้ว
     เราจะมัวหลงไหลอยากได้อยากเป็นอะไรในมันให้มากเรื่องไปโดยเปล่าประโยชน์อีกเล่า?
25. ในการฝึกสมาธินั้น ให้แบ่งเวลาออกเป็น 2 ช่วง คือช่วงแรก ต้องกำหนดจิตให้สงบ ไม่ต้องคิดเรื่องอะไร
      ส่วนช่วงที่2 จึงอาศัยจิตที่สงบเป็นตัวพิจารณาสิ่งต่างๆอย่างรอบคอบ
26. พอครบเวลาที่กำหนดไว้แล้ว เมื่อจะิเิลิกนั่งสมาธิ ก็ให้ตั้งความรู้สึกไว้ว่า ต่อจากนี้ไปท่านจะมีสติพิจารณา
     สิ่งต่างๆอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการพิจารณานั้น ท่านจะพิจารณาให้เห็นสภาพที่เป็นจริงของสิ่งเหล่านั้น ซึ่งล้วน
     แต่ตกอยู่ภายใต้กฎแห่งความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์และความไม่มีแก่นสารถาวรทั้งสิ้น
27. จงเตือนตัวเองว่า ทุกสิ่งกำลังเปลี่ยนแปลงมันไม่เที่ยงแ้ท้แน่นอน มันจะเกิดเรื่องดีที่ถูกใจเมื่อไหร่ก็ได้ หรือมัน
     จะเกิดเรื่องไม่ดีและขัดใจเราเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะสิ่งเหล่านั้นมันไม่เที่ยง ดังนั้นเราจึงต้องทำจิตให้พร้อมรับ
     สถานการณ์เหล่านั้นอยู่เสมอ โดยไม่ต้องดีใจหรือเสียใจไปกับเรื่องเหล่านั้น
28. จงพยายามทำจิตให้ปล่อยวางอยู่เสมอ หมายความว่า ท่านจะต้องพยายาม รักษาจิตให้สะอาด อย่าคิดอะไร
     ให้ตัวเองเป็นทุกข์ อย่าอยากได้ อยากเป็นอะไรจนเกินพอดี อย่าถือตัว อย่าถือทิฐิมานะ รักษาจิตให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ
     จงน้อมจิตให้มองเห็นสภาวะที่สงบเย็นผ่องใสและไม่เดือดร้อนได้เป็นอย่างดีที่สุด
29. จงตั้งใจไว้ว่าแม้ท่านจะออกจากนั่งสมาธิแล้ว แต่ท่านก็จะรักษาจิตให้สะอาดผ่องใสและไม่ถือมั่น ไม่แบกเอา
     สิ่งต่างๆมาไว้ในใจให้หนักใจเปล่าๆเลยทำให้เกิดสมาธิตลอด
30. จะคิดเรื่องอะไรก็จงคิดด้วยปัญญา คิดเพื่อที่จะทำให้เกิดความถูกต้อง คิดเพื่อจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และสัตว์
     ทั้งหลายให้พวกเขาได้รับความสุขสงบในชีวิต คิดเพื่่อจะทำหน้าที่ของท่านให้ดีที่สุด คิดจะทำให้ตัวเองและคนอื่น
     สัตว์อื่นมีความสุขไร้ทุกข์อยู่เสมอ
31. จงจำไว้ว่า ไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้ท่านเป็นทุกข์ได้ นอกจากความคิดผิดของท่านเอง ถ้าท่านคิดผิด ท่านก็จะเป็นทุกข์
     ถ้าท่านคิดถูกท่านก็จะไม่เป็นทุกข์
32. จงอย่าเชื่อถือสิ่งงมงายไร้เหตุผล เช่นเมื่อมีความทุกข์หรือเกิดเรื่องไม่ดี ไม่น่าปรารถนาขึ้นก็ไปบนเจ้าที่เจ้าทาง
     ไปไหว้จอมปลวก ไหว้ต้นไม้ใหญ่ฯลฯ ปรารถนาจะให้วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านหลงผิดคิดว่ามีอยู่ในสถานที่เหล่านั้น
     มาช่วยท่านให้พ้นทุกข์อย่างนี้เป็นต้น นี่คือความงมงาย จงละเลิกมันเสีย เพราะมันจะทำให้ท่านสิ้นเปลืองทรัพย์สิน
     และเวลาโดยไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้เชื่อในสิ่งเหล่านั้น
33. จงรู้ความจริงว่าเรื่องที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจนี้เป็นธรรมชาติธรรมดาที่มีอยู่ในโลกนี้ บางทีท่านก็ได้ตามที่ปรารถนา
      แต่บางทีก็ไม่ได้ มันเป็นของธรรมดาอย่างนี้เอง อย่าตื่นเต้น ดีใจหรือเสียใจไปกัีบมัน
34. ตลอดเวลาที่ท่านกำลังทำกิจการงานอะไรอยู่ จงน้อมจิตให้มองเห็นความสงบที่ท่านเคยพบในการฝึกสมาธิและ
     จงมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของทุกสิ่งทุกอย่างภายนอก จงแยกมันให้ออกว่า สิ่งหนึ่งคือจิตอันสงบของท่าน
     ส่วนอีกส่วนหนึ่งคือความปรุึงแต่งวุ่นวายของโลก สิ่งทั้ง2นี้มันแยกกันอยู่โดยธรรมชาติของมัน
35. ถ้าท่านไม่มองหาความสงบ แต่หันไปอยากได้อยากดีกับสิ่งภายนอก จิตของท่านก็จะสับสนวุ่นวายและเป็นทุกข์
     แต่ถ้าท่านมองเห็นความสงบของจิตและควบคุมจิตไม่ให้เกิดความอยากความทะเยอทะยานที่ไม่รู้จักพอขึ้นมาแล้ว
     จิตของท่านก็จะสงบเย็นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าท่านจะยืนเดินนั่งนอนอยู่ก็ตาม ไม่ว่าท่านจะร่ำรวยหรือยากจนสักเพียงใด
     ก็ตาม แต่จิตของท่านก็จะไม่เป็นทุกข์ เพราะการฝึกจิตด้วยวิธีการนี้

lek:
36. จงใช้ปัญญาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งปัญญานั้นหมายถึงความมีสติที่รู้จักประคับประคองจิตให้สะอาดอยู่เสมอ
      รู้จักทำจิตให้ปล่อยวาง ทำจิตให้โปร่งเบา รู้เท่าทันว่าอะไรถูกอะไรผิด ถ้าผิดท่านจะไม่ทำไม่พูด ถ้าถูกท่านจะทำจะพูด และ
      รู้จักพิจารณาว่าหน้าที่ที่ท่านทำกับสิ่งนั้นๆคืออะไร แล้วก็ทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด พยายามแก้ปัญหานั้นให้สงบไปด้วยความ
      บริสุทธิ์ยุติธรรมและถูกต้องที่สุด โดยไม่เห็นแก่ตัว วิธีนี้จะทำให้ปัญญาของท่านคมชัด และจะไม่มีความทุกข์อยู่ในจิตเลย
37. ท่านต้องรู้ว่า คนส่วนมากในโลกนี้เขามีกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ดังนั้นบางทีเขาก็คิดถูกและทำถูก แต่
      บางทีก็คิดผิดทำผิด บางทีก็โง่ บางทีก็ฉลาด เพราะฉะนั้น ท่านจะต้องอภัยให้เขา ค่อยๆพูดกับเขา ไม่ด่าว่ารุนแรงกับเขา
      ท่านจะต้องใช้ปัญญาของท่านเข้าไปสอนเขา ไปชักจูงเขาให้เดินในทางที่ถูก นี่คือหน้าที่ของผู้มีปัญญาที่จะเข้าไปเกี่ยวข้อง
      กับคนโง่ที่มีอยู่ในโลกนี้เป็นจำนวนมากมายมหาศาล ผลที่จะได้รับคือท่านจะเป็นคนที่มีจิตใจเยือกเย็น และน่าเคารพกราบไหว้
      ของคนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านจะไม่เป็นทุกข์ร้อนเลย แม้ว่าจะพบเห็นหรือเกี่ยวข้องกับคนมากมายหลายประเภท
38. การพิจารณาอย่างต่อเนื่อง แม้ในตอนที่ไม่ได้นั่งสมาธิอย่างนี้ คือ การปฏิบัติเพื่อให้เกิดปัญญา ซึ่งปัญญาสูงสุดแล้วก็คือ
     ความรู้จักปล่อยวาง ไม่แบกหามภาระใดๆ มาไว้ในใจจนนอนไม่หลับ และเป็นทุกข์นั่นเอง
39. จงจำไว้ว่า การฝึกสมาธินั้น แท้จริงแล้วท่านทำเพื่อให้เกิดปัญญา ซึ่งปัญญานั้นเองที่จะเป็นตัวทำลายความทุกข์ทางใจ
     ให้หมดสิ้นไปได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด ไม่ใช่เพียงแค่การอ้อนวอนอธิษฐานเอาอะไรๆตามใจตัวเอง
40. จงตั้งใจไว้ว่า ถ้ารู้สึกเป็นทุกข์หงุดหงิดเมื่อไหร่ ท่านจะสลัดมันทิ้งเมื่อนั้น ท่านจะไม่เอาอารมณ์นั้นมาไว้ในใจ ถ้าท่าน
      สลัดอารมณ์ไม่ดีให้หลุดไปได้เมื่อไหร่ ท่านก็จะรู้แจ้งธรรมะเมื่อนั้น ท่านจะหมดทุกข์เมื่อนั้น ท่านจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุด
      ในชีวิตของท่าน ในนาทีที่ท่านสลัดอารมณ์หงุดหงิดไม่สบายออกไปจากใจได้
41. ในตอนเจ็บไข้ได้ป่วย จงอย่า่คิดอยากจะหายจากโรคนั้น แต่จงคิดว่า ท่านจะรักษาโรคไปตามเรื่องของมัน บางทีก็หาย
      บางทีก็ไม่หาย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ท่านไม่เป็นโรคนี้ท่านก็ตายอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่จำเป็นจะต้องเสียใจหรือหวาดกลัวต่อโรคนั้น
42. จงตามดูความรู้สึกภายในจิตอยู่เสมอ ถ้าจะวิตกกังวลให้ตัดทิ้งเลย ถ้าจะหงุดหงิดตัดทิ้งเลย ถ้าจะห่วงอะไรก็ตัดทิ้งไปเลย
      ถ้าทำอย่างนั้นอยู่เสมอ ปัญญาของท่านก็จะสมบูรณ์เต็มเปี่ยมอยู่ในจิต นี่แหละคือทรัพย์อันประเสริฐสุดในชีวิตของท่าน
      และสิ่งเลวร้ายต่างๆก็จะสลายตัวไปเองในที่สุด
43. ปัญหาที่ทำให้ท่านหนักใจเป็นทุกข์ จะไม่เกิดขึ้นในจิต ถ้าท่านทำจิตให้สลัดอารมณ์ดีร้ายเหล่านั้นอยู่เช่นนี้เสมอ
44. สมาธิก็จะมั่งคงต่อเนื่องอยู่ในจิต แม้ท่านจะกำลังเดินเหินไปมาหรือทำการงานทุกอย่างอยู่ ถ้าหากว่าท่านพยายามทำจิต
     ให้ปล่อยวางอยู่อย่างนี้ สมาธิก็จะมั่งคงยิ่งขึ้น
45. อย่าคิดจะให้สิ่งต่างๆมันเป็นไปตามใจของท่านหมด แต่จงคิดว่า มันจะเกิดเ่รื่องดีร้ายอย่างไรก็ให้มันเกิด ท่านจะพยายาม
     หาทางแก้ไขมันไปตามความสามารถ แก้ได้ก็เอา แก้ไม่ได้ก็เอา เรื่องดีก็ทิ้ง เรื่องร้ายก็ทิ้ง สุขก็ทิ้ง ทุกข์ก็ทิ้ง แล้วจิตของ
     ท่านก็จะเป็นอิสระและไม่เป็นทุกข์เลย
46. ท่านจงอย่าปล่อยให้ความอยาก ความรักตัว หวงตัว เกิดขึ้นในจิต เพราะธรรมชาติอย่างนั้นมันเป็นสิ่งสกปรกที่จะ
     บั่นทอนจิตของท่านให้ตกต่ำและเป็นทุกข์
47. พอมีเวลาว่าง จงน้อมจิตเข้าสู่สมาธิอันสะอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอ แม้จะทำครั้งละ5นาที สมาธิที่ถูกต้องก็จะเกิดขึ้นในจิตได้
     เช่นเดียวกัน และจะเพิ่มปริมาณความสงบสะอาดของมันขึ้นเรื่อยไป จิตของท่านก็จะมั่นคงแข็งแกร่งยิ่งๆขึ้นไป
48. จงอย่าคิดว่า ฉันปฏิบัติไม่ได้ ฉันไม่มีกำลังใจที่จะปฏิบัติควบคุมจิตของตัวเอง อย่าคิดอย่างนั้นเป็นอันขาด เพราะ
     ความคิดอย่างนั้นมันเป็นการดูหมิ่นตัวเองเป็นการตีค่าตัวเองต่ำเกินไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเลย
49. เมื่อมีปัญหายุ่งยากเกิดขึ้น จงหยุดคิดทุกอย่างก่อน ให้น้อมจิตเข้าสู่การกำหนดลมหายใจ นับ1-2 กลับไปกลับมา
     พร้อมกับลมหายใจนั้น สักนาทีหนึ่งแล้วจึงน้อมจิตเข้าไปพิจารณาปัญหานั้นว่า นี่่มันคืออะไรทำอย่างไรเราจะไม่เป็นทุกข์
     ไปกับมัน เราควรจะทำอย่างไรจึงจะทำให้เรื่องนี้มันสงบไปได้อย่างถูกต้องที่สุด
50. การทำอย่างนั้นจะทำให้ท่านสามารถใช้สถานการณ์นั้นๆได้อย่างถูกต้อง และท่านก็จะเกิดความคิดที่เฉียบแหลม
     ในการที่จะแก้ไขปัญหานั้นได้ด้วยสติปัญญาของตัวเอง
51. หลักสำคัญที่จะลืมไม่ได้คือจงปล่อยวางอยู่เสมอ จงทำจิตให้ปล่อยวาง อย่าเก็บเอาสิ่งใดมาค้างไว้ในใจ ด้วยความ
     อยากเป็นอันขาด แล้วปัญหาทุกอย่างก็จะสลายตัวไปในที่สุด โดยที่ท่านจะไม่เป็นทุกข์
52. พอถึงเวลาก็นั่งสมาธิ
53. พอออกจากสมาธิก็ตามดูจิต และทำจิตให้ปล่อยวางเรื่อยไป
54. จงมองเห็นความไม่เที่ยงของทุกสิ่งอยู่เป็นประจำ
55. จงยอมรับการเกิดขึ้นของทุกสิ่ง ยอมให้มันเกิดขึ้นได้กับท่าน ไม่ว่ามันจะเป็นเรื่องที่ดีหรือเลวร้ายสักเพียงใดก็ตาม
     และพยายามหาทางทำกับมันให้ดีที่สุด โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ไปกับมัน
56. นี่คือการฝึกจิตให้สงบฉลาด ซึ่งท่านทุกคนสามารถทำได้ไม่ยากนัก
57. จงคิดเสมอว่า ชีวิตท่านกำลังเดินเข้าไปหาความตาย และความพลัดพรากจากทุกสิ่้งทุกอย่างในโลกนี้
     เพราะฉะนั้น จงอย่าประมาทคืออย่ามัวเมาสนุกสนานอยู่ในโลก โดยไม่มองหาทางหลุดรอดให้กับตัวเอง
     เพราะความประมาทอย่างนั้น มันจะทำให้ท่านพลาดโอกาสที่จะได้รับสิ่งที่ดีที่สุด
58. ความหลุดพ้นทางจิต คือ ความที่จิตไม่เป็นทุกข์กลัดกลุ้ม
59. ธรรมชาติแห่งความหลุดพ้นนี้ ท่านทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ถ้าหากท่านฝึกจิตของท่านให้ถูกต้อง ซึ่งการฝึก
     อย่างนี้เรียกกันว่า "การปฏิบัติธรรม" นั่นเอง
60. ถ้าท่านฝึกจิตให้เป็นสมาธิและใช้สติตามดูอาการภายในจิตของตัวเอง และทำจิตให้ปล่อยวางอยู่อย่างนี้เสมอ
     แล้ว ความทุกข์ก็จะไม่เกิดขึ้นในจิตของท่านเลย

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

ตอบ

Go to full version