ขอดูสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ท่านผู้ถามก็ช่างกระไรหนอ คุณใช้ชื่อนี้เวลานี้ถามมาที่กระผมนี้เล่นเอากระผมสะดุ้งโหยง จะดีร้ายประการใดก็รีบค้นคว้าหาคำตอบให้ดีกว่า
วันเสาร์ 7 มิถุนายน 2557 เวลา 00:00 น.
-http://www.dailynews.co.th/Content/Article/242945/%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87+%E0%B8%9B.%E0%B8%9B.%E0%B8%8A.-
ท่านผู้ใช้นามว่าปฏิรูปถามมาว่า มีความประสงค์จะขอดูสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งจะขอดูได้ไหม
ท่านผู้ถามก็ช่างกระไรหนอ คุณใช้ชื่อนี้เวลานี้ถามมาที่กระผมนี้เล่นเอากระผมสะดุ้งโหยง จะดีร้ายประการใดก็รีบค้นคว้าหาคำตอบให้ดีกว่า
มีคำวินิจฉัยตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๔๒๗/๒๕๕๑ ที่พอจะนำมาเป็นแนวทางในเรื่องนี้ครับ
เหตุเกิดจากผู้ร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ต้องการทราบรายละเอียดสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในเรื่องที่ตนร้องเรียนกล่าวหาเจ้าหน้าที่ตำรวจรายหนึ่งซึ่งต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช.วินิจฉัยว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล
สงสัยมาก ไม่ผิดได้อย่างไรหว่า ใคร่จะทราบรายละเอียดในการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้แน่ชัด จึงทำหนังสือแสดงความประสงค์ขอตรวจดูและคัดสำเนาสำนวนการสอบสวนทั้งหมด ปรากฏว่าท่านไม่อนุญาต
ไปร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารซึ่งท่านก็วินิจฉัยให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวได้ แต่คณะกรรมการป.ป.ช.ท่านก็ยืนกรานไม่ให้เหมือนเดิม
ท่านก็มีอำนาจตามมาตรา ๑๒๐ แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ใดเปิดเผยข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ โดยมิได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และมิใช่เป็นการกระทำตามหน้าที่ราชการหรือเพื่อประโยชน์แก่การตรวจสอบหรือไต่สวนข้อเท็จจริง หรือเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำปรับ
แบบนี้ก็ต้องไปเล่นต่อที่ศาลปกครองตามธรรมเนียม คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ ๒ ขอให้เปิดเผยข้อมูลตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารดังกล่าว
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ท่านผู้อ่านที่เคารพที่ศาลท่านต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบของศาลปกครอง
แต่ในคดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เป็นกรณีใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ในการออกกฎ คำสั่งหรือมติใด ๆ ที่มีผล กระทบต่อบุคคลเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ
และเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตามมาตรา ๓ แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ การไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีตรวจและคัดสำเนาเอกสารในสำนวนการไต่สวน จึง มิใช่กระทำในฐานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญและใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ
แต่เป็นการกระทำในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อผู้ฟ้องคดีอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีไม่เปิดเผยสำนวนการสอบสวนตามคำวินิจฉัยตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารและขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้เปิดเผยตามคำขอจึงเป็นคดีตามมาตรา ๓ แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ดังกล่าว
และตามมาตรา ๔ แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ ประกอบมาตรา ๑๐๔ และมาตรา ๑๐๘ แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ สำนักงาน ป.ป.ช.เป็น “หน่วยงานอิสระของรัฐ” และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารจึงมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่ง มิให้เปิดเผยข้อมูลคำสั่งได้ตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการฯ
ผู้ฟ้องคดีขอตรวจและคัดสำเนาสำนวนการสอบสวนที่มาจากการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จึง เป็นเอกสารที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามมาตรา ๑๙ (๓) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯซึ่งต้องห้ามมิให้เปิดเผยตามมาตรา ๑๒๐ ดังกล่าว
แต่บทบัญญัติดังกล่าว มิได้ห้ามหรือให้อำนาจผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยไม่มีเหตุอันสมควรแต่อย่างใด การใช้ดุลพินิจเปิดเผยหรือไม่ย่อมต้องพิจารณา พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯประกอบด้วย
เมื่อไม่ปรากฏว่าข้อมูลข่าวสารที่ขอให้เปิดเผยเป็นข้อมูลที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรืออาจทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพและไม่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี
กรณีจึง ไม่มีเหตุที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร และคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งตามมาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๗ และมาตรา ๒๕ และคำวินิจฉัยให้เป็นที่สุด คณะกรรมการฯจึงมีฐานะเป็น “คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท” ตามมาตรา ๓ แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มีผลผูกพันให้หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติตาม เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการข้อมูลฯจึงเป็น การละเลยต่อหน้าที่ พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการตามคำขอของผู้ฟ้องคดี
ก่อนมีเรื่องกับหน่วยงานที่ไม่ยินยอมเปิดเผยข้อมูลให้ตามคำขอ อย่าลืมไปดำเนินการทางคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารก่อนนะขอรับ.
พิสิษฐ์ พลรักษ์เขตต์
-www.naipisit.com/อีเมล- :
-praepim@yahoo.com-