ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ประเภทการเงิน ฉบับที่ 169 เอทีเอ็มแบบธรรมดา ธนาคารยังมีบริการไหม
-http://www.chaladsue.com/new/index.php/2015-03-12-09-57-19/2067-test2169-
เปิดหัวเรื่องมาแบบนี้ เพราะมีคำถามจากผู้บริโภคจำนวนหนึ่ง ที่จำเป็นต้องเปิดบัญชีธนาคารพร้อมกับทำบัตรเอทีเอ็ม เพื่อไว้อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมต่างๆ แต่ปัญหาที่เป็นประสบการณ์ร่วมกันคือ ธนาคารมักเสนอบัตรเอทีเอ็มแบบที่มีลักษณะเป็นบัตรเดบิตไปด้วย(สามารถใช้บัตรรูดแทนเงินสดได้ตามจำนวนเงินที่มีในบัญชี) หรือไม่ก็เสนอบัตรที่มีการทำประกันภัยไปด้วย ทำให้ค่าธรรมเนียมในการทำบัตรพุ่งพรวดไปหลายร้อยบาท
เรื่องนี้มิใช่เพิ่งมามีปัญหา แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว เวลามีการโวยวายผ่านสื่อขึ้นมาสักครั้ง ทุกธนาคารก็ให้คำตอบประมาณว่า ธนาคารไม่มีการบังคับ(แบบตรงๆ) ว่าทุกคนต้องทำบัตรเอทีเอ็มชนิดพิเศษ ผู้บริโภคสามารถทำบัตรเอทีเอ็มแบบธรรมดาๆ ได้ ซึ่งก็จริง แต่ในสถานการณ์จริง ผู้บริโภคมักถูกบังคับกลายๆ ให้ต้องเลือกทำบัตรเอทีเอ็มแบบพิเศษด้วยข้ออ้างประเภท “บัตรเอทีเอ็มธรรมดาหมด ต้องรอหลายอาทิตย์กว่าบัตรจะมา” หรือ “บัตรแบบนี้ดีกว่าเยอะ สามารถเบิกถอนได้คราวละมากๆ” เป็นต้น ผู้บริโภคหลายคนจึงเลือกเอาความสะดวก ไหนๆ ก็มาแล้ว ทำไปให้เสร็จๆ เพื่อไม่ต้องเสียเวลามาอีก จึงจำยอมทำไป ทั้งที่ไม่เต็มใจเท่าไหร่ เสียงบ่นเสียงครวญจึงเกิดขึ้นมากมาย เพราะค่าธรรมเนียมบัตรประเภทพิเศษนี้ จะวนเวียนมาอีกทุกๆ ปี ซึ่งเป็นเรื่องเกินความจำเป็น
ปัญหาการเปิดใช้บริการเอทีเอ็ม
ปัญหาการเงินการธนาคารเป็นประเด็นหนึ่งที่ คณะกรรมการองค์การอิสระภาคประชาชน ให้ความสำคัญและในปี2557 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มทดลองทำหน้าที่ ได้มีการจัดทำข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ทางคณะกรรมการฯ มองว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน คือ
1.ยกเลิกการขายพ่วง บัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม ร่วมกับการขายประกัน ข้อเสนอนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยทำหนังสือตอบว่า “ธนาคารแห่งประเทศไทย จะขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการ และออกประกาศ หรือกำหนดมาตรการบังคับ ห้ามการขายพ่วงบัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม และประกันภัย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย จะให้แยกแบบฟอร์มการสมัคร (แยกโต๊ะสำหรับการขายประกันโดยเฉพาะ)
2.ยกเลิกการบังคับ ทำบัตรเดบิตแทนบัตรเอทีเอ็มธรรมดา ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งว่า ได้ทำหนังสือถึงธนาคารต่างๆ เพื่อจัดการปัญหาการบังคับทำบัตรเดบิตแทนบัตรเอทีเอ็มแล้ว
3.ลดราคาค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามเขต ข้อเสนอนี้ ในขั้นต้น ธนาคารแห่งประเทศไทยยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินทางอินเตอร์เน็ตแล้ว(มีเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร)
อย่างไรก็ตาม แม้มีการตอบรับเรื่องการจัดการแก้ไขปัญหา การบังคับทำบัตรเดบิตแทนเอทีเอ็มธรรมดา โดยธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ก็ยังมีเสียงร้องเรียนมาจากฟากผู้บริโภคว่า ปัญหายังไม่หมดไป ธนาคารหลายแห่งยังมามุขเดิมๆ คือพยายามบ่ายเบี่ยงการทำบัตรเอทีเอ็มแบบธรรมดาๆ ของผู้บริโภค ดังนั้นในการประชุมคณะอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชนด้านการเงินและการธนาคาร ครั้งที่ 5/2557 จึงมีมติให้ทดลองติดตามมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคของธนาคารแห่งประเทศไทยว่า มีผลในทางปฏิบัติจริงหรือไม่ ในประเด็น 1) บัตรเอทีเอ็มธรรมดายังทำได้อยู่หรือไม่ 2) ค่าธรรมเนียมการทำบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิต ตรงกับที่ทางธนาคารแจ้งไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยฉลาดซื้อขออาสาทดสอบเรื่องดังกล่าว
ขั้นตอนการทดสอบ
1.เราเลือกธนาคารเป้าหมาย 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดยเลือกจาก 3 สาขาของแต่ละธนาคาร ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
2.จัดหาอาสาสมัครเพื่อไปทดลองเปิดบัญชีและทำบัตรเอทีเอ็ม โดยในการทดสอบอาสาสมัครจะบอกเพียงขอทำบัตรเอทีเอ็มเท่านั้นเพื่อดูการเสนอบริการของพนักงานว่ามีการให้ข้อมูลแบบใด เมื่อได้ข้อมูลแล้วจึงค่อยยืนยันว่าต้องการทำบัตรเอทีเอ็มแบบธรรมดาเท่านั้น เพื่อดูว่าพนักงานจะมีปฏิกิริยาอย่างไร และอาสาสมัครยังสามารถทำเฉพาะบัตรเอทีเอ็มธรรมดาได้หรือไม่
3.ก่อนจะส่งอาสาสมัครไปเปิดบัญชี เราได้ตรวจสอบข้อมูลจากหน้าเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อดูข้อมูลเรื่องค่าธรรมเนียมการทำบัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต ที่แต่ละธนาคารได้แจ้งไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งพบว่า ธนาคารกรุงเทพ ได้ยกเลิกการให้บริการบัตรเอทีเอ็มแบบธรรมดาแล้ว มีเพียงบัตรเดบิต “บีเฟิร์ส” เท่านั้น
รูปที่ 1

จากตารางจะเห็นว่า การทำบัตรเอทีเอ็ม 1 ใบ แบบธรรมดาจะเสียค่าธรรมเนียมแรกเข้า+รายปี ไม่เกิน 300 บาท เว้นธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งมีค่ารายปี 250 บาท+แรกเข้า 100 บาท รวมเป็นเงิน 350 บาท ข้อสังเกตคือ บัตรเอทีเอ็มธรรมดา ของธนาคารกสิกรไทย กรุงศรีฯ และไทยพาณิชย์จะมีค่าธรรมเนียมแรกเข้า+รายปี ไม่แตกต่างจากการทำบัตรเดบิตแบบธรรมดา เว้นของธนาคารกรุงไทยที่ค่าธรรมเนียมบัตรธรรมดาจะถูกกว่าบัตรเดบิต คือ บัตรเอทีเอ็มธรรมดา 230 บาท บัตรเดบิตธรรมดา 300 บาท

รูปที่ 2
KTB
บมจ.ธนาคารกรุงไทย

รูปที่ 3
SCB
บมจ.ไทยพาณิชย์

รูปที่ 4
Kbank
บมจ.กสิกรไทย

รูปที่ 5
Bay
บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
จากการทดลองสรุปว่า 12 สาขาของธนาคารเป้าหมาย ที่อาสาสมัครได้ทดลองเปิดบัญชีใหม่พร้อมทำบัตรเอทีเอ็ม พบว่า ไม่สามารถทำบัตรเอทีเอ็มแบบธรรมดาๆ ได้ ถึง 6 สาขา (50%) โดยธนาคารกสิกรไทยทำไม่ได้เลยทั้ง 3 สาขาที่อาสาสมัครได้ทดลองขอใช้บริการ รองลงมาคือ ธนาคารกรุงไทย ทำไม่ได้ 2 สาขา ไทยพาณิชย์ ทำไม่ได้ 1 สาขา(อ้างบัตรหมดเช่นกัน) ส่วนที่ต้องปรบมือให้ คือธนาคารกรุงศรีฯ อาสาสมัครของเราสามารถเปิดบัตรเอทีเอ็มแบบธรรมดาๆ ได้ทั้งสามสาขา
ฉลาดซื้อแนะ
1.ถ้าต้องการทำบัตรเอทีเอ็มแบบธรรมดาจริงๆ ขอให้ยืนยันกับทางพนักงานว่าต้องการทำบัตรเอทีเอ็มธรรมดาเท่านั้น ซึ่งค่าธรรมเนียมจะไม่เกิน 300 บาท เว้นธนาคารไทยพาณิชย์ 350 บาท
2.ระวังพนักงานเล่นกลกับท่าน กรณีที่บัตรเอทีเอ็มธรรมดาของธนาคารอาจมีหลายประเภท ท่านอาจได้ประเภทที่ค่าธรรมเนียมสูงแทนบัตรธรรมดาที่ค่าธรรมเนียมต่ำ หรือได้เป็นบัตรเดบิตมาแบบงงๆ เพราะค่าธรรมเนียมเท่ากัน
3.โปรดเลือกบริการโดยคำนึงถึงความเสี่ยง ด้วยค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มกับบัตรเดบิต อาจไม่ได้มีราคาต่างกัน ท่านจึงอาจเลือกบัตรเดบิตเพื่อความสะดวก แต่การเลือกใช้บัตรเดบิตต้องคำนึงเรื่องความปลอดภัย เพราะบัตรเดบิตสามารถนำไปรูดซื้อสินค้าได้เช่นเดียวกับบัตรเครดิต เพียงแต่ไม่เกินยอดเงินในบัญชี ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงสูงในการสุญเงิน หากท่านทำบัตรสูญหายหรือถูกขโมยไปใช้ เพราะผู้ไม่หวังดีต่อท่านจะสามารถรูดซื้อสินค้าได้ง่ายๆ เพียงแค่ปลอมลายมือชื่อของท่านเวลาซื้อของเท่านั้น(ร้านค้าส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้พิจารณาเรื่องลายมือชื่อสักเท่าไร) ดังนั้นท่านอาจสูญเงินทั้งหมดในบัญชีไปได้ง่ายๆ
4.ถ้าพบปัญหาว่าไม่สามารถทำบัตรเอทีเอ็มแบบธรรมดาๆ ได้ เพราะการอ้างเรื่องบัตรหมด ท่านควรทำหนังสือร้องเรียนต่อธนาคารดังกล่าว โดยการส่งจดหมายถึงธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานใหญ่ของธนาคารนั้น เพื่อให้เกิดการปรับปรุงการให้บริการ ถ้าจะไม่มีบัตรแบบธรรมดาแล้ว ก็ควรประกาศยกเลิกไปอย่างเป็นทางการ