เงินทองต้องรู้ : คนแคระทั้งเจ็ด : โดย...ขวัญชนก วุฒิกุล
-k_wuttikul@hotmail.com--http://www.komchadluek.net/detail/20140801/189224.html-
ในขณะที่ “คนแคระทั้งเจ็ด” เป็นเพื่อนตัวเล็กที่แสนดี ผู้ให้ที่พักพิงกับสโนไวท์ เจ้าหญิงน้อยแสนสวยในเทพนิยายของพี่น้องตระกูลกริมม์ ที่ถูกราชินีแม่เลี้ยงใจร้ายริษยาในความงามจนหาทางกำจัดเธอทุกวิธี แต่สำหรับ “เงินทองต้องรู้” วันนี้ “คนแคระทั้งเจ็ด” กลับมีความหมายในทางตรงข้าม เพราะหมายถึง “อุปสรรค 7 ประการ” ที่ทำให้หลายคนไม่สามารถบรรลุเป้าหมายชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข เพราะถูกทำให้ “แคระแกร็น” เสียก่อน
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ผลวิจัยการเตรียมความพร้อมการวางแผนการเงินของคนวัยทำงาน” โดยสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน วัตถุประสงค์ก็เพื่อติดตามพฤติกรรมของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นวัยทำงาน อายุ 40-60 ปี เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมกับวัยเกษียณ
ตลอดระยะเวลาหลายชั่วโมงของการนำเสนอผลวิจัย ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดทำบทสรุปฉบับย่อ โดยระบุว่า กลุ่มคนทำงานช่วงอายุ 40-60 ปี ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการวางแผนทางการเงินเพื่อเกษียณ และมีอัตราการออมและอัตราการใช้เงินออมอยู่ในระดับที่ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก ซึ่งหากแยกกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 3 กลุ่ม พบว่า เป็นกลุ่มเกษียณสุข 44% เกษียณพอเพียง 27% และเกษียณทุกข์ 29%
บทวิจัยของ ดร.บุญเลิศ จิตรมณีโรจน์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บ่งชี้ว่า กลุ่มตัวอย่างที่ตกอยู่ในกลุ่มเกษียณทุกข์จำนวน 29% นั้น มี “ข้อผิดพลาด” ในการวางแผนเพื่อเกษียณอยู่ 7 ประการ ทำให้คนที่อยู่ในวัยนี้มีเงินออมไม่พอใช้หลังเกษียณ
“ข้อผิดพลาด” ที่ทำให้เงินออมกลายเป็น “แคระแกร็น” ทั้งเจ็ดประการ คือ เริ่มวางแผนการเงินช้าเกินควร มีความมั่นใจมากเกินควร ไม่มีความเข้าใจด้านการวางแผนเท่าที่ควร ประมาณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณน้อยเกินควร ประมาณอายุคาดเฉลี่ยน้อยเกินควร ออมเงินไว้น้อยเกินควร และเกษียณอายุก่อนกำหนดเร็วเกินควร
ลองแยกดูทีละเรื่อง เริ่มจากเรื่องแรก “เริ่มวางแผนการเงินช้าเกินควร” บทวิจัยระบุว่า คนส่วนใหญ่รู้จักวางแผนการออม ที่มุ่งเน้นการออมเงินในช่วงวัยทำงาน แต่ขาดความรู้ความเข้าใจด้านการวางแผนเกษียณ ซึ่งมุ่งเน้นที่รายได้ในวัยหลังเกษียณ ผลการสำรวจพบว่า คนทำงานช่วงอายุ 21-30 ปี เริ่มวางแผนเกษียณในสัดส่วน 20% อายุ 31-40 ปี สัดส่วน 27% อายุ 41-50 ปี สัดส่วน 35% และอายุระหว่าง 51-60 ปี คิดเป็น 19%
ดังนั้น อายุเฉลี่ยในการเริ่มวางแผนเกษียณจึงอยู่ที่ 42 ปี ซึ่งช้าเกินไป !
มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงก่อนอายุ 40 ปี เราอาจให้ความสำคัญกับการวางแผนการเงินเพื่อเรื่องอื่นก่อน เช่น ซื้อรถ ซื้อบ้าน แต่งงาน รวมทั้งท่องเที่ยวและสันทนาการ
ข้อผิดพลาดประการที่ 2 การวางแผนด้วยความมั่นใจมากเกินควร เพราะทั้งๆ ที่กลุ่มตัวอย่างที่ไม่เคยวางแผนเพื่อการเกษียณเลย แต่กลับมั่นใจว่า คุณภาพชีวิตหลังเกษียณจะใกล้เคียงกับปัจจุบัน มีสัดส่วนสูงถึง 43% ส่วนอีก 28% เชื่อว่าคุณภาพชีวิตจะดีขึ้นกว่าปกติ สิริรวมแล้วกลุ่มนี้มีสัดส่วนสูงถึง 71% ขณะที่คนที่ไม่แน่ใจมีจำนวน 22% และคนที่เชื่อว่าชีวิตหลังเกษียณจะแย่กว่าปัจจุบัน มีจำนวนเพียง 7%
มีผลสำรวจพนักงานชาวอเมริกันจำนวน 1,057 คน เมื่อปี 2552 พบว่า มีเพียง 47% ที่เคยวางแผนเพื่อการเกษียณ แต่มีคนมากถึง 61% ที่ตอบว่า ตนเองมีความมั่นใจมากและมากที่สุดที่จะมีเงินเพียงพอสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณ ซึ่งก็อาจจะสะท้อนได้ว่า “หลักคิด” ในเรื่องนี้ไม่ว่าจะชาติใด ก็น่าจะใกล้เคียงกัน
ข้อผิดพลาดประการที่ 3 ไม่มีความเข้าใจด้านการวางแผนเท่าที่ควร ทั้งนี้ เพราะกลุ่มตัวอย่างคาดว่าจะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในสัดส่วนที่สูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น และละเลยผลของเงินเฟ้อในอนาคต โดยจากผลสำรวจพบว่า ในปัจจุบันกลุ่มตัวอย่างคาดว่าจะลงทุนในหุ้น 11% และเพิ่มเป็น 18% ในวัยเกษียณ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว กฎของการลงทุนในหุ้นข้อหนึ่ง ก็คือ สัดส่วนการลงทุนในหุ้น เท่า 100 ลบด้วยอายุ แปลว่า ยิ่งอายุมากขึ้น สัดส่วนการลงทุนในหุ้นยิ่งควรจะลดลง
ส่วนข้อผิดพลาดประการที่ 4 ประมาณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณน้อยเกินควร โดยสัดส่วนค่าใช้จ่ายในปีแรกหลังเกษียณต่อรายได้ในปีสุดท้ายก่อนเกษียณ ที่กลุ่มตัวอย่างใช้ในการวางแผนมีค่าเฉลี่ยเพียง 34% ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับ 70% ซึ่งเป็นค่าขั้นต่ำที่นิยมใช้ในการวางแผนทางการเงิน
ข้อผิดพลาดประการที่ 5 การประมาณอายุขัยเฉลี่ยน้อยเกินควร โดยอายุคาดเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างเพศชาย คือ 76.5 ปี ซึ่งมากกว่าอายุคาดเฉลี่ยของประชากรชายไทยซึ่งอยู่ที่ 74 ปี ดังนั้น ผู้ชายส่วนใหญ่มีโอกาสที่จะเผชิญกับความเสี่ยงด้านสุขภาพชีวิต เพราะพยายามใช้เงินในช่วงหลังเกษียณน้อยๆ เพื่อจะได้มีเงินใช้ตลอดช่วงอายุ ขณะที่อายุคาดเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างเพศหญิง คือ 76.6 ปี น้อยกว่าอายุคาดเฉลี่ยของประชากรหญิงไทยซึ่งอยู่ที่ 79 ปี ดังนั้น ผู้หญิงส่วนใหญ่มีโอกาสที่จะเผชิญกับความเสี่ยงที่เกิดจากการมีชีวิตอยู่ยืนยาวกว่าที่คาดไว้ ซึ่งอาจจะส่งผลให้เงินออมเพื่อเกษียณหมดก่อนสิ้นอายุขัย เพราะพวกเธอคิดว่า อายุจะสั้น ทั้งๆ ที่จริง อายุคาดเฉลี่ยของผู้หญิงยืนยาวกว่านั้น
มาถึงข้อผิดพลาดประการที่ 6 การออมเงินไว้น้อยเกินควร ถ้าพิจารณาสินทรัพย์เพื่อการเกษียณไม่รวมอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะมีเงินออมไม่เพียงพอสำหรับวัยเกษียณ แต่ถ้ารวมอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะมีเงินออมเพียงพอสำหรับวัยเกษียณ
และข้อผิดพลาดประการสุดท้าย การเกษียณอายุก่อนกำหนด โดยพบว่า 28% ของกลุ่มตัวอย่างต้องการเกษียณก่อนกำหนด แต่ผู้ที่ต้องการเกษียณก่อนกำหนดส่วนใหญ่มีเงินออมไม่เพียงพอสำหรับวัยเกษียณ
บทวิจัยยังปิดท้ายด้วยการสรุปว่า กลุ่มของผู้ตอบที่มีโอกาสเงินไม่พอใช้หลังเกษียณ ได้แก่ 1.เพศหญิง อายุ 51-60 ปี 2.เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถรับความเสี่ยงในการลงทุนได้เลย และ 3.เป็นกลุ่มที่ขาดการได้รับความรู้หรือขาดความเข้าใจหรือไม่เคยวางแผนเกษียณ
ส่วนตัวแล้วเกลียดคำว่า “มนุษย์ป้า” เพราะรู้สึกไม่แฟร์กับคนที่ไม่ได้ตั้งใจมีพฤติกรรมเบียดเบียนหรือเบียดบังคนอื่น แต่อาจจะทำอะไรไม่ถูกที่ถูกทาง เพราะความ “ไม่รู้” กฎกติกามารยาทที่ “คนรุ่นใหม่” สร้างขึ้น แต่พอเอาเข้าจริง เมื่อเขียนมาถึงย่อหน้าสุดท้ายก็อดนึกถึง “มนุษย์ป้ากับคนแคระ (แกร็น) ทั้งเจ็ด” ไม่ได้
-------------------------------
(เงินทองต้องรู้ : คนแคระทั้งเจ็ด : โดย...ขวัญชนก วุฒิกุล
-k_wuttikul@hotmail.com-)