'เวลา'จะช่วยอะไร
-http://www.komchadluek.net/detail/20130421/156541/%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3.html#.UXNkr8qG7PE-
'เวลา'จะช่วยอะไร : คอลัมน์วันอาทิตย์คิดเรื่องเงิน : โดย...ขวัญชนก วุฒิกุล
k_wuttikul@hotmail.com ถ้าเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกัน เห็นขึ้นต้นว่า “เวลาจะช่วยอะไร” ร้อยทั้งร้อยต้องนึกถึงเพลง “เวลาไม่ช่วยอะไร” ของนักร้องสาวที่ครั้งหนึ่งเคยเซ็กซี่ทั้งลีลาและน้ำเสียงอย่าง “คริสติน่า อากีล่าร์” แต่ถ้าเป็นรุ่นเยาว์ลงมาหน่อย ก็คงนึกถึงเพลงชื่อเดียวกันว่า “เวลาจะช่วยอะไร” ของนักร้องเสียงบอสซั่มอย่าง “ลุลา”
เหตุที่นึกถึงประโยคว่า “เวลาจะช่วยอะไร” นั้น ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า เนื่องเพราะราคาทองคำที่ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมาแท้ๆ
เป็นช่วงเวลาที่คนไทยหยุดยาวๆ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ใช้เวลาพักผ่อนกับครอบครัว บ้างก็เดินทางไปต่างประเทศ บ้างก็เดินทางกลับบ้านในต่างจังหวัด ในขณะที่หลายคนเลือกที่จะไม่ไปไหน และพักผ่อนอยู่กับบ้านอย่างเต็มที่
เป็นช่วงเวลาของความสุข ท่ามกลางความปั่นป่วนและผันผวนของราคาทองคำที่ใช้เวลาเพียงแค่ 2-3 วัน ในการปรับตัวลดลงถึงกว่า 2 พันบาทต่อน้ำหนักทองคำ 1 บาท จากระดับใกล้ๆ 1,600 เหรียญต่อออนซ์ ลดลงเหลือใกล้ๆ 1,300 เหรียญต่อออนซ์ และจากราคาบาทละ 21,350 บาทเมื่อวันที่ 12 เมษายน ลดลงเหลือ 18,950 บาท หรือลดลงบาทละ 2,400 บาท ในวันที่ 17 เมษายน
การปรับตัวลดลงต่ำที่สุดในรอบ 33 ปีของทองคำ กับการเปิดตลาดวันแรกหลังสงกรานต์ และภาพผู้คนแออัดยัดเยียดในร้านทองเยาวราชจนร้านแทบแตก เพื่อแย่งกันซื้อทอง สะท้อนความมีส่วนร่วมของคนหมู่มากในทองคำ ที่ไม่ใช่เรื่องเฉพาะกลุ่ม เพราะใครๆ ก็มี “ทองคำ”
พอทองปรับตัวลดลง ทุกบ้านที่มีทองแม้แต่เฟื้อง-สลึงก็แตกตื่นราวกับโลกถล่มกันหมด เป็นอาการ “มีทองเท่าหนวดกุ้ง นอนสะดุ้งจนเรือนไหว” ในอีกมิติ ที่ไม่ได้หมายถึงแค่การกลัวขโมยขโจรจะคว้าทองไปจนหวาดผวา แต่ยังกลัว “มูลค่า” ของสิ่งที่มีอยู่จะหายวับไปด้วย
ทั้งหมดนี่แหละที่ทำให้นึกถึงคำว่า “เวลาจะช่วยอะไร” และให้เป็นเรื่องบังเอิญที่ได้นั่งฟังเทปสัมมนา "ออมไว้ในหุ้น” ตอน “จัดพอร์ตหุ้นคุณค่ากับสุดยอดผู้จัดการกองทุน” ซึ่งไม่เกี่ยวกับ “ทอง” แต่เกี่ยวกับหลักของการลงทุน ที่ฟังแล้วอดนึกถึง “ทอง” ไม่ได้
ลองดูว่า เกี่ยวกันแบบไหนและอย่างไร
เมื่อเริ่มต้นด้วย “ออมไว้ในหุ้น” งานนี้ ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในวิทยากรของงานสัมมนาครั้งนี้ จึงฉายภาพรวมระหว่างคำว่า การ “ออม” กับ “การลงทุน” เป็นปฐม
“ถ้าเราพูดถึงการออม เราก็มักจะนึกถึงการนำเงินไปฝากธนาคาร ให้ค่อยๆ เติบโตด้วยอัตราดอกเบี้ยไม่มาก แต่ก็ไม่เสี่ยง ในขณะที่การลงทุน เริ่มมีความเสี่ยงมาเกี่ยวข้อง ดังนั้น คำว่า ‘ออมไว้ในหุ้น’ จึงเป็นอะไรที่ท้าทายมาก”
ดร.สมจินต์ บอกว่า ถ้าพูดถึงองค์ประกอบของ “ความมั่งคั่ง” ก็อาจหมายรวมถึงการหาเงิน การออมเงินที่หาได้บางส่วน และการนำเงินออมไปลงทุน
“ออมไว้ในหุ้น ก็คือ เอาส่วนที่ 2 และ 3 มารวมกัน ซึ่งเมื่อพูดถึงหุ้น คนก็จะมองว่า เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยง แต่ถ้าถามว่า ความเสี่ยงมีปัจจัยประกอบหรือไม่ เพราะบางคนบอกว่าเสี่ยง แต่บางคนบอกว่าไม่เสี่ยง สิ่งสำคัญก็คือ เรานิยามความเสี่ยงอย่างไร และความเสี่ยงกระทบเราอย่างไร ถ้าเป็นคนธรรมดาที่นำเงินไปลงทุน ความเสี่ยงของเขา ก็คือ การขาดทุนของเงินต้น แต่ในทางการเงิน เรามองว่า ความเสี่ยงคือ ความไม่แน่นอนของผลตอบแทน หมายความว่า ถ้าผลตอบแทนมันมากบ้าง น้อยบ้าง ก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงของนัยทางการเงิน”
ดร.สมจินต์ ยังยกตัวอย่างงานวิจัยของอเมริกาที่ศึกษาผลตอบแทนของสินทรัพย์ 3 ประเภทในรอบ 100 ปี ได้แก่ การลงทุนระยะสั้นในตั๋วเงินคลัง การลงทุนในพันธบัตร และการลงทุนในหุ้น เพื่อคำนวณผลตอบแทนปีที่มากที่สุดและน้อยที่สุดของแต่ละสินทรัพย์ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งพบว่า ผลตอบแทนของหุ้นมีความผันผวนมากที่สุดหากพิจารณาเป็นรายปี โดยปีที่ผลตอบแทนสูงสุดอยู่ที่ 70-80% ขณะที่ปีที่ผลตอบแทนต่ำสุดนั้น ติดลบถึง 40-50% ขณะที่ผลตอบแทนของตั๋วเงินคลังไม่มีปีใดที่ติดลบเลย
ทั้งหมดสะท้อน (และตอกย้ำ) ความเชื่อว่า สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงสุด คือ หุ้น
แต่งานวิจัยไม่ได้จบแค่นั้น เพราะผู้ทำการวิจัยนำการลงทุนในช่วง 100 ปีมาแยกย่อยเพื่อหาผลตอบแทนถัวเฉลี่ยในช่วง 5 ปี 10 ปี 15 ปี และ 20 ปี ก่อนที่จะนำผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนมาลบด้วยเงินเฟ้อ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่แท้จริง
“ถ้าดูปีเดียว ไม่สนใจเรื่องเงินเฟ้อ เราจะเห็นว่า หุ้นเสี่ยงมาก ดังนั้น สำหรับคนที่กลัวความเสี่ยง การลงทุนในหุ้นจึงไม่สมเหตุสมผลและไม่น่าสนใจ แต่พอดูค่าเฉลี่ย 20 ปี แล้วลบด้วยเงินเฟ้อ จะพบว่า ไม่มี 20 ปีใดที่หุ้นให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีติดลบ ขณะที่อีก 2 สินทรัพย์กลับติดลบ เพราะผลตอบแทนไม่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้”
ผู้บริหาร บลจ.ทหารไทย ขมวดปมให้เห็นชัดขึ้นว่า จากสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นว่า ส่วนใหญ่เราจะมองอะไรสั้นๆ มองเฉพาะหน้า เฉพาะวัน ว่าหุ้นซื้อวันนี้ แล้วพรุ่งนี้หุ้นตก แต่ในความเป็นจริงของชีวิต ไม่ว่าจะลงทุนหรือไม่ลงทุน ความเสี่ยงที่เราต้องเจอแน่ๆ ก็คือ ความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ เพราะฉะนั้น ความเสี่ยงของการลงทุนจึงขึ้นอยู่กับตัวผู้ลงทุน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของผู้ลงทุน ก็คือ ผู้ลงทุนต้องการจะลงทุนนานแค่ไหน
“ถ้าหากต้องการลงทุนในหุ้นแค่วันเดียว มันไม่เป็นเหตุเป็นผลเลยที่จะทำแบบนั้น และไม่อาจเรียกได้ว่า เป็นการลงทุน แต่น่าจะเรียกว่า เป็นการพนันมากกว่า แต่ถ้าตั้งใจลงทุน 10-20 ปีขึ้นไป แล้วเอาเงินไปฝากธนาคารที่ให้ผลตอบแทน 1-2% ทั้งๆ ที่เราเห็นว่า เงินเฟ้อ 3% ก็อาจจะเป็นการกระทำที่ไม่สมเหตุสมผลเช่นกัน”
ประเด็นสำคัญ คือ ระยะเวลาที่เราลงทุนนั่นแหละ ที่จะเป็นสิ่งที่ระบุได้ว่า ทรัพย์ที่ลงทุนกับความเสี่ยงที่จะได้รับเป็นอย่างไร
“ถ้าลงทุนได้แค่ช่วงสั้นๆ ก็ลงทุนในสินทรัพย์ที่ผันผวนน้อยหน่อย ถ้าลงทุนได้ยาวขึ้น ก็อาจจะเลือกสินทรัพย์ที่ผันผวนได้มากขึ้น เพราะระยะเวลาจะช่วยลดความผันผวนจากความเสี่ยงของสินทรัพย์”
เขียนไปจนใกล้จบ หลายคนยังอาจจะงงว่า แล้วเกี่ยวกับ “ทอง” ตรงไหน ก็ตรงที่ในขณะที่เราตกอกตกใจกับราคาทองคำที่ลดลง เราได้ถามตัวเองหรือยังว่า ตอนที่เราซื้อทองนั้น เราตั้งใจจะลงทุนนานแค่ไหน เชื่อว่าหลายคนไม่คิดจะขาย บางคนซื้อเก็บไว้ให้ลูกให้หลาน แต่อด “แตกตื่น” ไปกับเขาไม่ได้
ไม่ว่าจะเป็นทองหรือหุ้นล้วนมีวัฏจักร มีรอบ มีขึ้นมีลง อาจจะใช้เวลายาวหรือสั้นแต่ละรอบแตกต่างกัน เมื่อเลือก “ระยะเวลาลงทุน” แล้ว เลือก “สินทรัพย์ที่เหมาะสม” กับระยะเวลาแล้ว และแน่ใจว่า เป็นการจัดสรรการลงทุนในพอร์ตที่เหมาะสมแล้ว
ก็ลองปล่อยให้เวลาได้ช่วยอะไรบ้าง